explicitClick to confirm you are 18+

แบบแผนการฆ่าตัวตายในสังคมไทย กับเรื่อง Suicide ของอีมิลล์ เดอร์ไคม์

IdeooJun 7, 2020, 4:50:23 PM
thumb_up109thumb_downmore_vert

ไม่รู้ว่าคอนเท็นแนวนี้เหมาะกับ MindsTH มั้ย เอาเป็นว่าสำหรับเชแนลนี้ ประเดิมด้วยประเด็น "การฆ่าตายตัว" ที่มาพร้อมกับวิกฤตในรัฐบาลที่ขยันสร้างวิกฤตกันดีกว่า

.......ตั้งแต่มีการแจกเงิน 5 พันบาท ที่ได้ยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน มีคอมเม้นท์ในโลกออนไลน์ของ "สลิ่ม" ต่อกรณีผู้ฆ่าตัวตายจากภาวะเศรษฐกิจและสังคมบ้างก็ถูกนำไปเทียบกับสัตว์ว่าขนาดอดอยาก "หมายังไม่ฆ่าตัวตายเลย"

.......สำหรับเรา การฆ่าตัวตายน่าจะเป็นภาวะหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างจากจากสัตว์ ผมเคยคิดว่าหากมนุษย์เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีสัญชาตญาณเอาตัวรอด การฆ่าตัวตายย่อมไม่ได้เป็นไปตามสัญชาตญาณแน่ๆ แล้วมันคืออะไร? คำตอบที่พอจะคิดได้ในวัยเด็กมักเกี่ยวข้องกับความเครียด จิตใจ จิตวิทยา

ในวันแรกที่ผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัย อาจารย์พูดถึงงานเขียนงานสุดคลาสิค Suicide : A Study in Sociology (1897) เขียนโดย Emile Durkheim (1858-1917) บิดาสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ที่เสนอแนวคิดว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องของบรรทัดฐาน กฎระเบียบ และความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มหรือสังคมต่างหาก ท้าทายสิ้นดี ใครกันอาจหาญคิดอย่างนี้ บอกตามตรงว่าผมในวัย 18 ปีตื่นเต้น

..........Suicide แบ่งการฆ่าตัวตายแบบกว้างๆ เป็น 4 แบบ โดยอ้างอิงจากสถิติอัตราการฆ่าตายตายของฝรั่งเศสประกอบบริบทสังคมวัฒนธรรมใน ศตวรรษที่ 18-19  เช่น พบว่าการฆ่าตัวตายในชายมากกว่าหญิง ในคนที่ยังไม่แต่งงานมากกว่าคนที่แต่งงาน ในชาวโปรแตสแตนมากกว่าชาวคาทอลิก ในยามปกติมากกว่ายามสงคราม หรือในยามที่เศรษฐกิจดีมากกว่ายามเศรษฐกิจตกต่ำ การฆ่าตัวตาย 4 แบบที่ว่านี้มีอะไรบ้าง

1) Altruistic suicide คือการฆ่าตัวตายเพื่อผู้อื่น กรณีนี้แทบจะเป็นแบบแผนทางวัฒนธรรมของสังคมดั้งเดิมจนถึงสังคมสมัยใหม่ เกิดจากสภาพสังคมที่ความเป็นปึกแผ่นสูง สมาชิกมีสิ่งยึดเหนี่ยวร่วมกันอย่างเหนียวแน่น ในประเพณีดั้งเดิมเช่นการบูชายัญ การพลีร่างในกองไฟ (พิธีสตีของชาวฮินดู) การฆ่าตัวตายของคนชราชาวเอสกิโมเพื่อสงวนอาหารและทรัพยากร หรือแม้กระทั่งการพลีชีพของฝูงบินคามิกาเซในสงครามโลกครั้งที่ 2 คือการฆ่าตัวตายตามค่านิยมหรือบรรทัดฐานของสังคมที่เหนียวแน่นมากๆ คนที่ฆ่าตัวตายรับเอาค่านิยมนั้น การฆ่าตัวตายจึงเป็นเกียรติยศ และสมาชิกอื่นในสังคมจะยกย่องคนที่ฆ่าตัวตาย

2) Egoistic suicide การฆ่าตัวตายเพื่อตัวเอง เป็นการที่บุคคลขาดการปฏิสัมพันธ์กับวิถีชีวิต ระเบียบ แบบแผนของกลุ่ม ดังนั้นเมื่อเขาจะฆ่าตัวตายก็จะไม่ถูกยับยั้งจากความรู้สึกส่วนลึกที่มีสำนึกผูกพันต่อผู้อื่นในกลุ่ม และเขาจะไม่คำนึงถึงผลของการฆ่าตัวตายของเขาต่อกลุ่มหรือผู้อื่น หรือบุคคลขาดความรู้สึกมีความผูกพันกับคนรอบข้างน้อยและรู้สึกว่าตนด้อยค่า รวมถึงในภาวะขาดความมั่นคงทางด้านอารมณ์ความรู้สึกจากกลุ่ม (ถูกกลุ่มหรือสังคมทอดทิ้ง) ย่อมรู้สึกว่าไม่สามารถพึ่งพาผู้อื่นในสังคมได้เมื่อต้องเผชิญปัญหา ทำให้ปัจเจกบุคคลรู้สึกโดดเดี่ยวและกลายเป็นบุคคลที่มีความเปราะบางทางอารมณ์ความรู้สึกที่นำไปสู่สาเหตุของการฆ่าตัวตาย

การฆ่าตัวตายแบบพลีเพื่อคนอื่น หรือ Altruistic Suicide เกิดขึ้นจากการที่ปัจเจกมีความรู้สึกผูกพันกับกลุ่มรวมทั้งยึดมั่นในรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตและค่านิยมของกลุ่มเป็นอย่างมาก แต่การฆ่าตัวตายในลักษณะ Egoistic Suicide เกิดขึ้นจากการที่บุคคลปลีกตัว ขาดความผูกพันที่แนบแน่น หรือถูกโดดเดี่ยวจากกลุ่ม

3) Fatalistic suicide เกิดขึ้นเมื่อบุคคลถูกควบคุมมากเกินไป เช่นกรณีนักโทษคุมขัง ทรมาน สูญสิ้นตัวตนและอิสรภาพในอนาคต จึงมีทางเลือกคือ ตายดีกว่าอยู่

4) Anomic suicide ตัวนี้น่าสนใจมาก มันคือการฆ่าตัวตายที่เกิดจากความไร้ระเบียบแบบแผนในสังคม เนื่องจากสังคมที่แข็งแกร่งในทัศนะของ Durkhiem คือสังคมที่มีแบบแผน มีบรรทัดฐานที่สร้างกฎเกณฑ์ให้แก่พฤติกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคม บรรทัดฐานจะเป็นสิ่งที่ชี้นำให้เห็นว่าอะไรที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ดังนั้น บุคคลจะประเมินความเหมาะสม ความดีงาม ความสมควรตามบรรทัดฐานที่แข็งแกร่งนี้

แต่เมื่อบรรทัดฐานอ่อนแอลง สังคมไร้ปึกแผ่น สมาชิกในสังคมจะเกิดความรู้สึกไม่มั่นคง สับสนกับความไม่สอดคล้องของสิ่งที่ต้องการกับวิธีการที่สังคมกำหนด Durkhiem เรียกว่าภาวะที่ปราศจากกฎเกณฑ์ (Anomie) ดังนั้นการฆ่าตัวตายแบบ Egoistic Suicide และการฆ่าตัวตายแบบ Anomic Suicide เกิดขึ้นจากการที่สังคมมีความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกันในระดับต่ำ และบุคคลต้องแบกรับความสับสนและความรู้สึกไร้ที่พึ่งอย่างสูง

..........รตพร ปัทมเจริญ (2552) อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ แห่ง ม.อ. ยกกรณีการฆ่าตัวตายของหญิงชาวมาเลนีเซียในแถบปาปัวนิวกินี ที่มีลักษณะสังคมชายเป็นใหญ่ มีความเชื่อว่าหากหญิงที่ตายด้วยความอาฆาตแค้น วิญญาณของพวกเธอจะตามอาฆาตสามีหรือคนที่ทำให้เธอตาย พวกเธอจึงมักฆ่าตัวตายในช่วงเช้ามืดในที่ที่ผู้คนในชุมชนจะเห็นเธอจำนวนมาก และอาจฆ่าลูกสาวที่จะเติบโตไปดูแลสามีตามเธอไปด้วย ทั้งนี้เพื่อให้สามีของเธออับอายและสามีจะเผชิญหน้ากับความโกรธแค้นของญาติพี่น้องฝั่งภรรยา การฆ่าตัวตายของพวกเธอจึงสะท้อนภาวะ Anomie เนื่องจากโครงสร้างสังคมที่กดขี่ทางเพศ ทำให้ผู้หญิงอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่า การเกิดความรู้สึกอดสู ทำให้ผู้หญิงมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ที่ไร้อำนาจ ไม่สามารถที่จะต่อรองหรือกระทำในสิ่งที่ต้องการได้ และไม่ได้รับความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยภายใต้กฎเกณฑ์บรรทัดฐานทางเพศนี้ จึงเกิดสับสนในสิ่งที่ผู้หญิงต้องการว่าไม่สอดคล้องกับวิธีการที่สังคมกำหนด เพื่อส่งเสียงของความสับสนนี้ เธอจึงตาย (ดูเพิ่มใน การฆ่าตัวตาย : ปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม ใน วารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 ก.ค. - ธ.ค. 2552 หน้า 7-23)

........ในภาพที่กว้างขึ้น เมื่อเราพูดถึงการฆ่าตัวตายในภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบัน อาจเป็นการฆ่าตัวตายได้ 2 ลักษณะ คือ แบบเพื่อคนอื่น และ แบบ Anomie บางรายเป็นการพลีร่างเพื่อประท้วงต่อระบบบริหารราชการ เช่นกรณีหน้ากระทรวงการคลัง บางรายฆ่าตัวตายด้วยเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วหลังการปิดเมือง จนเกิดภาวะที่ปัจเจกบางรายปรับตัวไม่ทันและสับสน เมื่อความคาดหวังที่จะได้รับการเยียวยาหรือการบริหารที่รัฐจัดหาให้ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐาน เรื่องความเป็นธรรมในสังคม หลายคนเผชิญคำถามกับความสอดคล้องนี้ ระหว่างนั้นหลายคนจึงตาย


และที่สำคัญในข่าวการฆ่าตัวตายหลายครั้งที่ผ่านมาผู้ตายจงใจทิ้งหลักฐานแสดงให้เห็นความคับข้องใจมากกว่าการถูกแปลกแยกจากสังคม เช่น กรณีผู้พิพากษาศาลยะลาชนชั้นกลางในสังคมที่จงใจจัดวางพื้นที่ยิงตัวตาย เพราะประท้วงบรรทัดฐานในวงการราชการ หรือกรณีนักผจญเพลิงชาวเชียงใหม่ฆ่าตัวตายประท้วงการจัดการดับไฟป่า การฆ่าตัวตายในปัจจุบันจึงสะท้อนความสับสนและความเปราะบางของแบบแผนทางสังคมชัดกว่าที่เคย การฆ่าตัวตายเป็นแบบแผนการประท้วง การต่อต้าน และความขุ่นข้องใจ เพราะความต้องการและผู้อำนาจกำหนดกฎเกณฑ์ทางสังคมไม่สอดคล้องกัน การตายจึงเป็นการพลีสังเวยเพื่อต่อรองความอาฆาตนี้ เช่นเดียวกับหญิงสาวเมลานีเซียน