explicitClick to confirm you are 18+

[ประวัติศาสตร์ชุมชนก่อนไทยEP.4] ลูกหลานขุนบูฮมและพวกถือแถน: มองการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมของไทน้อยสายตะวันออกจากเมืองแถนสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

IdeooJul 27, 2020, 7:43:39 AM
thumb_up38thumb_downmore_vert

หลังจากบทที่ 3 ที่ผมพูดถึงคนไทหลวงหรือไทสายตะวันตกที่ “ถือฟ้า” เดินทางแพร่กระจายไปทางรัฐฉานจรดลุ่มน้ำพรมบุตรในรัฐอัสสัม บทนี้เรามาพูดถึงไทอีกสายหนึ่งที่ใกล้กับประเทศไทย คือพวกไทน้อยที่นับถือ “แถน” โดยถอดความจากพงศาวดารลาวที่เรียบเรียงตำนานการสร้างโลกฉบับพวกถือแถนไว้

อนึ่งก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องราวของพวกแถน ต้องพิจารณานิเวศวัฒนธรรมของอุษาคเนย์ก่อน เพราะกลุ่มไทน้อยนี้จะแพร่กระจายวัฒนธรรมของตนลงมาทางใต้ซึ่งมีอารยธรรมมอญเขมรที่แข็งแกร่งอยู่ก่อนในยุคทวารวดีจนถึงยุคขอมเรืองอำนาจ

อุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นดินแดนในเขตเส้นศูนย์สูตร ทำให้มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้นประกอบกับมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งอิทธิพลให้มีฝนตกชุกช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงพฤศจิกายน ทำให้ดินแดนแถบนี้อุดมไปด้วยพืชพรรณหลากหลายชนิด โดยเฉพาะหัวเผือก หัวมัน ที่ให้สารอาหารจำพวกแป้ง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ (ปรานี วงษ์เทศ. 2522) และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ “ข้าว”

ทฤษฎีทางมานุษยนิเวศวิทยา บอกว่า มนุษย์จะปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์โดยการสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาเป็นเครื่องมือเพื่ออยู่รอด กลุ่มชนต่างๆ ในอุษาคเนย์จึงสร้างวัฒนธรรมข้าวขึ้นมา โดยเฉพาะกลุ่มชนในที่ราบลุ่มตามริมฝั่งแม่น้ำซึ่งสามารถเพาะปลูกข้าวได้เป็นอย่างดี วัฒนธรรมข้าวจะสะท้อนผ่านความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งล้วนเกี่ยวพันธ์กับการผลิตข้าวทั้งสิ้น เช่น การบูชาผีข้าว (แม่โพสพ) ผีน้ำ ผีฟ้า หรือด้านพิธีกรรมก็เช่น การทำบุญข้าวสาก พิธีกรรมขอฝน เป็นต้น ทั้งนี้ทุกชนเผ่าแม้จะพูดกันต่างภาษาแต่ก็มีความคล้ายคลึงกันในแง่ของความเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ข้าวเป็นหลัก จึงมีการปะทะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมร่วมกันเรื่อยมาจนกระทั่งสังคมพัฒนาเป็นรัฐเล็กๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนในตระกูลไทที่เริ่มมีอิทธิพลต่ออาณาจักรขอม (จิตร ภูมิศักดิ์ 2540, 247) ตั้งแต่สมัยพระนครเริ่มปรากฏภาพสลักกองทัพเสียมกุก ซึ่งแสดงถึงบทบาทคนไทในฐานะทหารรับจ้างป่าเถื่อนล้าหลัง (ภาพสลักเป็นทหารแตกแถว) คนไทมีพัฒนาการเป็นชุมชนเมืองในแถบลุ่มแม่น้ำ เช่น ไทยวน ในเชียงแสน ไทพวน เชียงขวาง ไทใหญ่ในเชียงตุง เป็นต้น จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 เมื่อขอมเริ่มเสื่อมอำนาจปลายสมัยบายน รัฐเล็กๆ ทางตอนเหนือของประเทศไทยในปัจจุบันก็มีโอกาสขยายตัวและมีอำนาจมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือการคลี่คลายจากไทยวนมาเป็นไทเมือง(คนเมือง) การสถาปนาสุโขทัยของขุนศรีอินทราทิต จนถึงการหลอมรวมวัฒนธรรมไท-ขอม-มอญ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

อาณาจักรที่น่าสนใจในยุคหลังบายน คือ อาณาจักรล้านช้างที่สถาปนาเป็นรัฐหลังใครเพื่อน พวกเขาพยายามสร้างฐานอำนาจให้กับตัวเองโดยการเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมา 2 ฉบับที่สำคัญคือ 1)พงศาวดารล้านช้าง ที่ลำดับพระนามกษัตริย์ว่ามาจากขุนบูฮม หรือขุนบรมมหาราช กษัตริย์ที่ถูกส่งมาจากแถนซึ่งเป็นเทพสูงสุด และ 2) ตำนานอุรังคธาตุ เพื่อเล่าการมาถึงของพุทธศาสนาและการสร้างวัดเจดีย์สำคัญของกษัตริย์ล้านช้างในดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อกัลปนาที่ดินแดนและบ่งบอกว่านี่คือเขตอำนาจของตน

พงศาวดารลาวจึงน่าสนใจกว่าอาณาจักรอื่นๆ ในสมัยเดียวกันอย่างล้านนาหรืออยุธยา เพราะไม่ได้อ้างสิทธิ์จากศาสนาหลักอย่างพุทธหรือพราหมณ์ แต่เป็นแถน เช่นเดียวกับอาณาจักรไตฉาน หรือรัฐอาหมที่ ถือฟ้าเป็นบรรพบุรุษกษัตริย์


ตำนานการสร้างโลก กำเนิดมนุษย์ และปฐมกษัตริย์ผู้ปกครองไท

ความจาก “พงศาวดารล้านช้าง” บริเฉทที่ 2 ตามลิ้งนี้ได้เลย https://e-shann.com/38589/%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%92%e0%b8%99%e0%b8%98%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%a1%e0%b9%81%e0%b8%96%e0%b8%99-%e0%b8%ad%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%a3/

ผมจะสรุปง่ายๆ ว่า เดิมนั้นโลกมีผีใหญ่สามตนที่เรียกว่าปู่ลางเซิง ขุนเค็ก ขุนคาน หรือพูดง่ายๆ คือพวกที่มาเสพกินง้วนดินแล้วไม่ยอมขึ้นสวรรค์ออกลูกออกหลานกันอยู่บนโลก แถนซึ่งเป็นเทพบนสวรรค์ก็เห็นว่าคนทั้งหลายที่อยู่บนโลกควรเรพแถน ทำอะไรให้แจ้งแก่แถนน แม้กระทั่งการกินข้าวก็ให้บอกกล่าวแถน แต่ทั้งคนและผีที่อยู่ในโลกไม่สนใจเชื่อฟังคำสั่งแถน แถนจึงโมโหบันดาลให้น้ำท่วมโลก ฝ่ายขุนเค้ก ขุนคาน และลางเซิง จึงเอาไม้มาสร้างแพแล้วพาดขึ้นบนดอนสวรรค์ เมื่อน้ำท่วมถึงเมืองแถน พญาแถนก็บ่นว่า “กูใช้ให้ไปกล่าวแก่สูสองสามทีให้ยำแถนยำผีเถ้ายำเจ้ายืนกาย สูสั่งบ่ฟังคำกู” แต่สุดท้ายนางก็ใจเย็นและยอมให้ ปู่ลางเซิง ขุนเค็ก ขุนคานลงมาอยู่บึงดอนแถนจนกระทั่งน้ำแห้งเหือดและเกิดแผ่นดินกว้างใหญ่

เมื่อเกิดแผ่นดินที่เรียกว่านาน้อยอ้อยหนู (เมืองแถนและนาน้อยอ้อยหนูปัจจุบันคือพื้นที่เดียนเบียนฟูในเวียดนาม) แถนก็มอบ “ควายเขาลู่” ตัวมหึมาให้แก่ขุนผีทั้งหลายเพื่อ “ทำนา” บนโลก ได้สามปี ควายนั้นก็ตาย จากซากของควายเขาลู่บังเกิด “หมากน้ำ” หรือน้ำเต้าผุดขึ้นมากลางซาก ปู่ลางเซิงเอาเหล็กแหลมแทงน้ำเต้านั้น บังเกิดมนษย์หลั่งไหลออกมาจากรู 2 กลุ่ม หนึ่งเรียกชื่อไทลม (ไทลุ่ม) อีกหนึ่งเรียกชื่อไทลี ขุนคาน เห็นดังนั้นจึงเอาสิ่วตอกน้ำเต้าบ้าง ก็บังเกิดมนุษย์ออกทางรูสิ่วนั้น 3 กลุ่ม หนึ่งเรียกชื่อไทเลิง หนึ่งเรียกชื่อไทลอ หมู่หนึ่งเรียกชื่อไทควาง (ตามพงศาวดารจะกลายเป็นชาวพวน หรือ เซียงหวาง เชียงขวาง)

ปู่ลางเซิง สอนผู้คนทำไร่ทำนาและทอผ้า สอนหน้าที่การครองเรือนของชายหญิง เมื่อคนมากเข้า ขุนเค้กและขุนคานจึงขึ้นไปทูลขอพระยาแถนหลวงให้ส่งผู้มาปกครองมนุษย์ แถนจึงส่งขุนครู ขุนครองลงมา แต่ขุนทั้งสองนั้นไม่ทำให้ผู้คนเจริญก้าวหน้าและเป็นสุข จึงเอาขุนทั้งสองกลับและส่ง “ขุนบรม” หรือขุนบูฮมมหาราชาธิราช ลงมาพร้อมบริวารผู้รู้ นักปราช และกำลังคนลงมาสร้างบ้านแปงเมืองที่ นาน้อนอ้อยหนู สืบมา

นักประวัติศาสตร์มองว่าขุนบูฮมคงเป็นลูกหลานที่เกิดมาจากชนเผ่าไต หรือ ไท นั่นเอง เพราะในอดีตนั้นตั้งแต่มณฑลเสฉวนลงมาถึงยูนนานมีคนไต หรือไท ปะปนอยู่กับพวกฮ่อ หาน จีน และสู้รบกันเรื่อยมา ขุนบูฮมจึงได้พาผู้คนลงมาจากอาณาจักรหนองแส (น่านเจ้า) หรือที่จีนเรียกว่า “ต้าลี่ฟู” แล้วมาตั้งเมืองกาหลง อันกลายเป็นเมืองเชียงรุ่ง ในแคว้นสิบสองปันนา แต่ก็ยังถูกรุกรานเรื่อยๆ

ขุนบูฮมมีบุตรที่เกิดจากมเหสีซึ่งเป็นราชธิดาจากเมืองจีน 3 คน คือ ขุนลอ หลกกม และเจ็ดเจือง ส่วนมเหสีอีกองค์ มีบุตร 4 คน คือ ยี่ผาลาน สามจุสง สายผง และงัวอิน จึงให้ลูกทั้งเจ็ดคนแยกย้ายไปสร้างเมืองต่างๆ คือ

1. ขุนลอ ไปปกครองสร้างเมืองซัว หรือเมืองชวา (หลวงพระบาง)

2. ยี่ผาลาน ไปปกครองสร้างต้าหอ หรือสิบสองพันนา

3. สามจุสง ไปปกครองสร้างหัวเมืองทั้งหก ในเวียดนาม

4. สายผง ไปปกครองสร้างเมืองโยนก หรือล้านนา

5. งัวอิน ไปปกครองสร้างเมืองสุพรรณภูมิ หรืออยุธยา

6. หลกกม ไปปกครองสร้างเมืองหงสาวดี

7. เจ็ดเจือง ไปปกครองสร้างเมืองพวน หรือเชียงขวาง

เมื่อขุนบูฮมสวรรคต ขุนลอและเจ็ดเจืองพี่น้องร่วมมารดา ก็ได้นำไทพวน ไทลาวถอยลงมาตั้งอยู่ “นาน้อยอ้อยหนู” หรือเมืองแถน (เดียนเบียนฟู ในสิบสองจุไท) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เผ่าไตแตกแยกกระจายกันอยู่ ไตลื้อมาอยู่สิบสองพันนา ซานหรือฉานแตกไปพม่าจนถึงรัฐอัสสัมในอินเดีย ที่เหลืออยู่ก็ติดตามขุนลอ และเจ็ดเจืองลงมาเจอกับพวกขอมที่อยู่ในอุษาคเนย์

เมื่อขุนลอและเจ็ดเจืองนำผู้คนเผ่าลงมาในบริเวณที่ขอมกำลังมีอิทธิพลอยู่ ไทพวน ไทลาวจึงสนับสนุนไทยวนให้ยึดเอาดินแดนแถบเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา หรือตอนเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน ส่วนไทละว้าก็ยึดเอาภาคกลางที่เรียกว่าลพบุรีปัจจุบัน จากนั้นไทสยาม ไทยวน ไทละว้า ไทลาว และไทพวนก็ค่อยๆ ผลักดันให้ชนเผ่าขอมถอยลงไปเรื่อยๆ จนเหลือแต่กลุ่มที่เรียกกันว่า “ลาวเทิง” ที่อาศัยอยู่ตามภูเขาในภาคตะวันออกของลาว

โครงเรื่องของตำนานขุนบูฮม เป็นการเล่าว่าขุนบูฮมคือบรรพบุรุษซึ่งสืบเชื้อสายจากแถนและกลายเป็นต้นราชวงศ์ปกครองอาณาจักรมนุษย์ที่เกิดจากแถน คือ คนตระกูลไทและข่า ทำให้ตำนานนี้เกี่ยวข้องกับที่มาของกษัตริย์และจุดเริ่มต้นของชาติของลาว (ดูตำนานขุนบูฮมในฐานะพงศาวดารและประวัติศาสตร์ของชาติลาว เพิ่มเติมใน นาตยา กรณีกิจ 2554) แต่ประเด็นการปกครองนั้นไม่สำคัญในที่นี้ สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนอยากยกมาเสนอในที่นี้ คือ เรื่องลูกทั้ง 7 คนของขุนบูฮมปฐมกษัตริย์ที่ถูกส่งไปปกครองเมืองต่างๆ หากลดทอนรายละเอียดแล้วพิจารณาแก่นตำนานนี้ในคำอธิบายโลกทัศน์ (Mythos) จะเห็นได้ว่าการส่งลูกไปครองเมือง บ่งบอกว่าในอดีตมีคนไทลาว “เดินทาง” ไปตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านหรือยังดินแดนต่างๆ แล้ว รวมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา (Wyatt 1984, 7-12) นี่คืออุดมการณ์หรือนัยยะที่เป็นข้อสังเกตได้อีกว่าเป็น “แบบแผนทางวัฒนธรรม” การอพยพหาที่ดินใหม่ๆ เพื่อทำนาของผู้คนไทลาว

ภาพที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการตั้งอาณาจักรที่มีบทบาทที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ ลพบุรี และอยุธยา ดินแดนในลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้นทั้งมอญ และขอมเคยมีอำนาจมาก่อน ด้วยชัยภูมิที่เหมาะสมแก่การปลูกข้าว และใกล้ทะเลซึ่งเอื้อต่อการติดต่อค้าขายสินค้าซึ่งสร้างอำนาจให้อาณาจักร เช่น เกลือสมุทร เหล็ก และเปลือกหอย (ทำปูนสำหรับก่อสร้าง) เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการแย่งชิงพื้นที่ตรงนี้เรื่อยมา

การที่คนไทมีชัยชนะเหนืออาณาจักรโบราณหลายแห่ง มิได้หมายความว่าประชากรไทจะเข้าไปแทนที่คนในท้องถิ่นเสียทั้งหมด คนไทที่กระจายตัวลงมาก็ไม่ได้ถือว่าตนเก่งกาจ เมื่อมาเจอวัฒนธรรมแปลกใหม่ และเห็นว่าควรนำมาปรับใช้กลุ่มคนไทก็เริ่มหยิบยืมและผสมผสานวัฒนธรรมมอญและขอมหลายๆด้าน ได้แก่

ด้านภาษา คนไทที่กระจายลงมาได้นำเอาอักษรบางตัวของมอญและของขอมมาใช้เป็นของตน รวมถึงคำศัพท์หลายคำ จนปรากฏเป็นคำในภาษาไทย (สยาม) ถึงปัจจุบัน

ด้านความเชื่อ ดั้งเดิมคนไทนับถือผีแถน และจิตวิญญาณ แต่เมื่อรับวัฒนธรรมขอมและมอญก็รับเอาทั้งพุทธศาสนาแบบเถรวาท และแบบมหายาน รวมถึงคติความเชื่อด้านพราหมณ์ฮินดูไว้

ด้านการปกครอง หลังจากผ่านระบบพ่อลูกในสังคมแบบชนเผ่า จะเห็นได้จากไทใหญ่ที่มีอำนาจในรัฐฉาน มีเผ่าเล็กเผ่าน้อยจำนวนมากซึ่งกระจายอำนาจปกครองตนเอง แต่ยอมภักดีอยู่ใต้อำนาจของเจ้าฟ้าซึ่งสามารถควบคุมการทดน้ำทำนา หรือมีจำนวนคนมาก เจ้าฟ้าจึงมีตำแหน่งคล้ายกับ Lord ในระบบศักดินา ซึ่งระบบเจ้าฟ้านี้เป็นรูปแบบการปกครองในสังคมแว่นแคว้นไทต่างๆ ในระยะแรกๆ

เมื่อเกิดกรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นเมืองหลวงของคนไททางใต้ คนไทก็รับเอาทั้งภาษาความเชื่อและพิธีกรรมจากขอมและมอญ มาพัฒนาเทคนิคการบริหารของตนเอง เช่น การยกฐานะขึ้นเป็นเทวราชตามคติแบบพราหมณ์ และราชประเพณีที่ซับซ้อนขึ้น การกระจายอำนาจจึงเปลี่ยนไปเป็นการดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางแทน

ด้านเชื้อชาติประชากร เราจำแนกกลุ่มชนด้วยภาษา แต่เมื่อคนไทสถาปนาอยุธยา เป็นเมืองหลวงท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ จึงเป็นเรื่องปกติที่มีการแต่งงานข้ามชนเผ่า เมื่อมีลูกก็ไม่สามารถจำแนกได้ชัดเจน จึงไม่มีคำว่า “ไทแท้” “มอญแท้” “ขอมแท้” ในดินแดนแถบนี้

และนี่เป็นสิ่งที่หลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน คนไทยสยาม คนลาว คนรัฐฉาน และพื้นที่อื่นล้วนถูกเส้นประเทศขีดขั้นแล้ว แต่รากเหง้าที่สืบสาวโยงไยไปถึงกันนั้นบ่งบอกเราได้อย่างชัดเจนว่า ภาพสะท้อนของวัฒนธรรมไท อยู่ในทุกส่วน ทุกกลุ่มชนของอุษาคเนย์ ทุกกลุ่มชนมีความต่างแต่ก็มีความคล้าย ไม่มีวัฒนธรรมใดบริสุทธิ์ในตัวของมัน นั่นคือธรรมชาติ มันคือความหลากหลาย

ไม่มีหรอกไทยแท้ ไม่มีหรอกลาวแท้ ไม่มีหรอกมอญแท้ๆ

และสุดท้าย ไม่ว่าคนไทจะมาจากไหน จะสนไปทำไมล่ะ ในเมื่อเราก็แยกจากกลุ่มชนอื่นๆ ไม่ได้

เพราะเราทุกคนคือพี่น้องกันนั่นแหละ อยู่ที่ว่าคุณจะยอมรับความแตกต่างหลากหลายนี้ได้หรือเปล่า .....