explicitClick to confirm you are 18+

[ประวัติศาสตร์ชุมชนก่อนไทยEP.3] ฟ้าหลวง ผีแถน และแลงดอน: ศาสนาฟ้าของไทหลวงคนไทสายตะวันตก

IdeooJul 22, 2020, 6:25:15 AM
thumb_up44thumb_downmore_vert

[ภาพปก: ปัจจุบันชาวอาหมมีขบวนการรื้อฟื้นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเพื่อต่อต้านวัฒนธรรมอินเดีย ทั้งเครื่องแต่งกายในภาพคือการโพกหัวที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ รวมถึงรื้อฟื้นการสอนภาษาและประวัติศาสตร์คนไทอาหม ที่มาภาพ: @priyakhi.baruah https://www.picuki.com/media/2139150403085097341]

....................................................................................................................................

บทนี้จะพูดถึงการเดินทางของคนไทหลวง หรือชาวไตในภาคตะวันตกของยูนนาน ในรัฐฉานประเทศเมียนมาร์ (ปัจจุบัน) ซึ่งเดินทางไปจรดในลุ่มน้ำพรมบุตร รัฐอัสสัม ประเทศอินเดียปัจจุบัน เนื่องจากมีตำนานกำเนิดและรากเหง้าวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันมาก ตำนานที่จะยกมาก็คือเรื่องของเทพสูงสุด และการแปงเมืองปกครองกลุ่มชนของชาวไทสายนี้

อาจารย์ปราณี วงษ์เทศ คณะโบราณคดี ได้แปลตำราเรียน “บังคับอ่าน” เล่มหนึ่งให้กับนักศึกษาโบราณคดี-มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยปรารภไว้นานแล้วว่าวัฒนธรรมของคนไทในรัฐฉาน มีระบบการปกครองที่เรียกว่าระบบเจ้าฟ้า (ดูเพิ่มใน Robbins Burling.(1965). Hill Farms and Paddi Fields) ระบบเจ้าฟ้ามีรากฐานมาจากการนับถือเทพเจ้าโบราณ คือ ฟ้า ซึ่งเป็นเทพจากธรรมชาติ ไร้ตัวตน และฟ้าก็เป็นบรรพบุรุษของชาวไทและผู้ปกครองก่อนที่จะรับอิทธิพลพุทธและพราหมณ์ภายหลัง ฟ้า จึงเป็นทั้งผีและเทพเจ้าในคำเดียวกัน (God and Spiritual)

คนไทหลวงซึ่งมุ่งหน้าขยายที่ทำกินไปทางตะวันออกกลุ่มที่โดดเด่น ที่จะกล่าวในที่นี้คือพวกอาหม ขั้นแรกเรามาดูกันว่าโลกของชาวอาหมเป็นเช่นไร

ผมจะสรุปและเรียบเรียบโดยคร่าว เพราะสำนวนการเกิดโลกนั้นมีหลายสำนวนเหลือเกิน

...............แต่แรกของสรรพสิ่งนั้นมีแต่ “น้ำ” บางตำนานเล่าว่าเกิดน้ำท่วมฝนตกห่าใหญ่ก่อน เหมือนตำนานการสร้างโลกของพวกเซมิติก (อิสลาม-ยิว-คริสเตีน) จนมีท้องน้ำกว้างใหญ่ไพศาล จากน้ำนั้นจึงมี “ฟ้า” ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างแรก ล่องลอยอยู่อย่างเคว้งคว้าง ต่อมาฟ้ามีความปรารถนาแรงกล้าที่จะมองเห็นสิ่งต่างๆ จนบังเกิดเป็น “ตา” ขึ้นบนตัวฟ้า (เป็นรากของคำว่า “ตาวัน” หรือ ตะวัน” หรือดวงอาทิตย์ของคนไท) เมื่อฟ้าลืมตามอง พบว่าสรรพสิ่งนั้นช่างเวิ้งว้าง จึงเกิดความปรารถนาที่จะสร้างสิ่งน่าดูขึ้นบนโลก ความปรารถนานั้นทำให้เกิด “ขุนทิวคำ” (แปลว่า ความน่าดู)

ขุนทิวคำนอนหงายบนน้ำ บังเกิดดอกบัวงอกออกมาจากสะดือ จากบัวเกิดปู จากปูเกิดเต่า จากเต่าเกิดงูใหญ่มีแปดพังพานแผ่ไปแปดทิศ ขุนทิวคำสามารถเทียบเคียงได้ใกล้เคียงพระนารายณ์ (สำนวนนี้อาจมาภายหลังจากชาวอาหมมีการปะทะทางวัฒนธรรมกับชาวฮินดูในลุ่มน้ำพรมบุตร)

จากนั้นขุนทิวคำจึงเนรมิตภูเขาทางเหนือและใต้ของโลก มีเสาใหญ่ปักอยู่บนยอดเขา แล้วเนรมิตแมงมุมทองคู่หนึ่งให้ชักใยเชื่อมเสาเข้าด้วยกัน ใยของแมงมุมกลายเป็นท้องฟ้า และกลายเป็นสวรรค์ ขี้แมงมุมตกลงมาบนน้ำกลายเป็นพื้นโลก จากนั้นฟ้าได้มีลูกเป็นไข่อีกสี่ฟอง เมื่อไข่สี่ฟองฟักตัวก็แตกออก

ลูกที่เกิดจากไข่คนแรกชื่อ ฟ้าสางดินขุนญิว ฟ้าให้ไปครองพื้นโลก

ลูกคนที่สองชื่อแสนเจ้าฟ้าผาคำ ให้ไปครองพิภพงูในน้ำ

ลูกคนที่สามชื่อแสงกำฟ้า ให้ไปครองสายฟ้า

ลูกคนที่สี่ มีชื่อที่ฉลาดมาก ชื่อ “งี่เง่าคำ” ฟ้าให้อยู่ช่วยขุนทิวคำ

.............หลังจาก “ฟ้า” ให้ขุนทิวคำสร้างโลกแล้ว สรรพชีวิตต่างๆ ก็ค่อยๆ บังเกิดขึ้นบนพื้นแผ่นดิน และสวรรค์กล่าวคือบนแผ่นดินนั้นเกิดสิ่งมีชีวิต พืชพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งมนุษย์ซึ่งมีบ้านเมือง มีอารยธรรมขึ้น ฟ้าลงมาปลูกน้ำเต้ากลสงแผ่นดิน (บางตำนานอาจกล่าวว่าให้ขุนทิวคำ) นํ้าเต้าแตกเป็นคน

ส่วนบนสวรรค์นั้นเกิดเผ่าพันธุ์ของ “แถน” ซึ่งแถนเหล่านี้มีผู้นำชื่อ “เเลงดอน” เลงดอน หรือ แล้งหลอน แหลน หรือกร่อนเสียงเป็นแถน เเลงดอนปกครองเหล่าผี (ผีของชาวไทเป็นทั้งเทพและวิญญาณธรรมชาติ) มี ผีเด่นๆ เช่น เจ้าสายฝนใหญ่ (เทพแห่งหมอก) และย่าเสียงฟ้า (เทพแห่งการศึกษาเล่าเรียน) ผีเหล่านี้ทำหน้าที่ควบคุมกลไกหรือปรากฏการณ์ต่างๆ ในธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม “ฟ้า” กับลูกจากไข่ทั้งสี่เป็นตัวแทนของ “ธรรมชาติ” หรือเป็นผีอีกชั้นหนึ่งที่อยู่เหนือกว่าผีแถน

.................คติความเชื่อเรื่อง “ฟ้า” ชาวอาหมเรียกว่า “พูราหลวง” หรือ “ฟ้าหลวง” จากการศึกษาวิจัยเรื่อง “ขบวนการฟื้นฟูภาษา ความเชื่อ พิธีกรรมของไทอาหม” โดยสุมิตร ปิติพัฒน์, ดำรงพล อินทร์จันทร์ (2545, 19-20) ว่า

“สังคมโบราณของไทอาหมตามที่ปรากฏในเอกสารโบราณและยังสืบเนื่องมาในพิธีกรรมสมัยปัจจุบัน นับถืออำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติซึ่งเป็นบรรพชนของไทอาหมเองด้วยฟ้าตือจิ้ง คือพระเจ้าสูงสุดผู้สร้างโลก ไทอาหมมีคำเรียกเทพชั้นสูงว่า “ฟ้า”

ทวยเทพเทวดาของไทอาหมนั้นมีลำดับชั้นสูงต่ำ และมีคำเรียกต่างกันไป อย่างเช่น ผี สางเสื้อ

หลักฐานข้อมูลต่าง ๆ ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ไทอาหมมีลัทธิบูชาธรรมชาติและบรรพชน ซึ่งเป็นลัทธิความเชื่อดั้งเดิมของมนุษย์และเกี่ยวเนื่องกับปรัมปราคติโดยตรง…

...........การวิเคราะห์ลัทธิของชาวอาหม ให้ภาพปรากฏร่องรอยความเป็นชุมชนบุพกาลอย่างมาก ด้วยการคลี่คลายเข้าสู่ยุคศักดินาตอนต้น ในสภาพชุมชนที่ธรรมชาติแวดล้อมมีบทบาทสำคัญ และครอบครัวเครือญาติเป็นหน่วยพื้นฐานยึดมั่นในความเชื่อบูชาธรรมชาติและบรรพบุรุษ ความเชื่อเรื่อง “ฟ้าหลวง” ของชาวไทอาหม บูชา “ฟ้า” หรือ “ฟ้าตือจึ้ง” ฟ้าเหนือหัว หรือ เลงดอน แสงกำฟ้า ฟ้าร่มบดแสงดำ เจ้าสายฝน นางแสงดาวเลิงแสง ลาวขรี ขุนวัน และอื่น ๆ

เจ้าฟ้าใกล้ชิดกับฟ้าหรือเลงดอน พระนามกษัตริย์แทบทุกพระองค์ต้องมีคำว่า “ฟ้า” อยู่ด้วย คำเรียกขวัญในพิธีราชาภิเษก ยืนยันว่า เจ้าฟ้าอ้างตัวเป็นหลานของเลงดอน”

“ศาสนา ‘ฟ้าหลวง’ ของชาวอาหมบูชาฟ้า (อีกชื่อหนึ่งคือ ฟ้าตือจึ้ง ) ฟ้าเหนือหัว หรือเลงดอน แสงกำฟ้า (เทพแห่งสายฟ้าผ่า) ฟ้าบกร่มสางดำ เจ้าสายฝน นางแสงดาว เลิงแสง ลาวขรี (เทพแห่งการก่อสร้าง) ขุนวัน ฯลฯ นอกจากนั้นชาวอาหมยังต้องบูชาผีธรรมชาติอื่น เช่น ผีดิน ผีลม ผีไฟ ผีดอย ผีเดือน ผีขุนชั้นหมอก เป็นต้น

ศาสนาบูชาธรรมชาติและบรรพบุรุษของชาวอาหมต่างจากศาสนาฮินดูของชาวอารยัน “ฟ้าหลวง” เป็นความเชื่อของสังคมบุพกาลขณะที่ฮินดูเป็นความเชื่อที่เกิดแรกเริ่มในสังคมทาส ในความเชื่อ “ฟ้าหลวง” พระเจ้าคือธรรมชาติ ไม่มีรูปร่างแน่ชัด เป็นฟ้า เป็นเดือนเป็นตะวัน เป็นภูเขา เป็นแม่น้ำ ฯลฯ เป็นสภาพแวดล้อมรอบตัว หรือผีบรรพบุรุษก็เป็นวิญญาณของผู้ที่ชุมชนคุ้นเคย ฟ้าและผีเป็นบรรพบุรุษเป็นญาติผู้ใหญ่ที่เราคุ้นเคย

..........ก่อนที่ชาวไต/ไท ดึกดำบรรพ์ จะรับอิทธิพลวัฒนธรรมฮินดูและพุทธ ประมุข (ขุน, ท้าว, เจ้าหลวง, เจ้าฟ้า, พญา ฯลฯ), หมอผีหมอหลวง (ปุโรหิต) และลูกไท (ไพร่บ้านพลเมือง) อยู่ใต้อาณัติเดียวกันคือ “ฟ้า/แถน” มิได้แตกต่างห่างไกลกันนัก ต่อเมื่อประมุขคนไทดึกดำบรรพ์เปลี่ยนอุดมคติเป็น “ธรรมราชา” (แบบพุทธ) และ/หรือ “เทวราชา” (แบบฮินดู) หรือผสมผสานทั้งสองแบบเข้าด้วยกันแล้ว วัฒนธรรมการปกครองรัฐไทยจึงเปลี่ยนแปลง “ระบอบฟ้า/แถน” เลือนจางหายไป ยังคงหลงเหลืออยู่บ้างนิดหน่อยในประเพณีชาวบ้านภาคเหนือและภาคอีศานเท่านั้น

คติความเชื่อเรื่อง “แถน” (ของชาวไทสายตะวันออก หรือไทน้อย จะกล่าวในบทต่อไป) กับเรื่อง “ฟ้า” (ของไทสายตะวันตก) เป็นรากเหง้าความเชื่อเดียวกัน เพียงแต่คำศัพท์รูปธรรมนิยมใช้แตกต่างกันไปเท่านั้น และต่อมาในกลุ่มลาว-ไทหรือไทน้อ ที่รับอิทธิพลพุทธศาสนา ก็มีอิทธิพลพุทธศาสนาเข้ามาแทรกปะปนด้วยมาก อย่างไรก็ตาม ในพงศาวดารไทใหญ่ ก็มีคำว่า “แถน” เช่นกัน แต่น้อยกว่าทางไท-ลาว หรือไทน้อยสายตะวันออก

.............สำหรับไทอาหม แม้จะมีอิทธิพลฮินดูเข้ามาแทรกปะปน แต่ก็ยังเห็นได้ชัดว่า บูชา “ฟ้า” หรือ “ฟ้าตือจึ้ง” เป็นสิ่งสูงสุด เรียกลัทธิความเชื่อของพวกตนว่า “พูราหลวง – ฟ้าหลวง” เรียกประมุขสูงสุดของเมืองฟ้าว่า “ฟ้าเหนือหัว หรือ เเลงดอน”

และ “เลงดอน– แลงดอน” หรือ “ฟ้าเหนือหัว” เทียบกับไทสายตะวันออก ก็น่าจะคือ “แถนหลวงฟ้าคื่น” นั่นเอง

..............ติดตามเรื่อง แถนหลวง ของชาวไทสายตะวันออกตอนต่อไปครับ...............

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ดูเพิ่มเติมได้ใน

1. https://e-shann.com/14164/%E0%B9%97-%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%99-%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%AB%E0%B8%A5/

2. https://e-shann.com/38599/%e0%b9%81%e0%b8%96%e0%b8%99%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b8%b3%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%a7-%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%88-%e0%b9%84/

3. https://sites.google.com/site/rakmeuxngtiyshanstate/kaneid-lok-khxng-chaw-trakul-thi

4. สุมิตร ปิติพัฒน์, ดำรงพล อินทร์จันทร์.(2545). ขบวนการฟื้นฟูภาษา ความเชื่อ พิธีกรรมของไทอาหม. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

5. ศิราพร ณ ถลาง.(2540). รายงานการวิจัยเรื่องการวิเคราะห์ตำนานสร้างโลกของคนไท เข้าถึงได้จาก htttps://www.researchgate.n e t / p u b l i c a t i o n / 2 7 8 0 3 5 5 5 _karwikheraahtanansranglokkhxngkhnthi_rayngankarwicay [accessed Jan 06 2018].