explicitClick to confirm you are 18+

พลังการขับเคลื่อนสังคมด้วยภาพเขียนชีวิตกรรมกรเหมืองหินของ กุสตาฟ คูแบร์

IdealistNov 26, 2020, 6:36:48 AM
thumb_up22thumb_downmore_vert

ในศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ด้วยการเกิดขึ้นของยุคอุตสาหกรรมหนัก สังคมศักดินาดั้งเดิมถูกท้าทายด้วยการเกิดขึ้นของชนชั้นใหม่ “ชนชั้นแรงงาน” 

มูฟเม้นท์ทางศิลปะในช่วงนี้จึงสำคัญมาก จากเดิมศิลปะเป็นเครื่องมือทางศาสนาที่แสดงอำนาจของชนชั้นนำ และพ่อค้าที่ร่ำรวย ศิลปะประเภท “จิตรกรรม” มีขนบที่สืบเนื่องมายาวนานตั้งแต่ยุคเรอเนสซองค์ นั่นคือ การเขียนภาพ 5 ประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภาพเขียนประวัติศาสตร์” (History Painting) ที่ตามขนบนั้นจะใช้เรื่องราวจากพระคัมภีร์ วรรณกรรม หรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของกษัตริย์หรือผู้นำ ถูกปรับปรุงด้วยเทคนิคใหม่ๆ ในงานแบบ neo classic หรือการเชิดชูพระเจ้าผ่านธรรมชาติจากกระแสงานแบบ Romanticism ที่ครอบงำภูมิทัศน์ทางศิลปะในยุโรป (ฝรั่งเศส เยอรมัน) ช่วงปลายศตวรรษที่ 17-18

งานแสดงศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้นคือที่กรุงปารีส อย่างที่เราทราบกันดีตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสว่าปัญญาชน ศิลปิน และนักปฏิวัติมีพื้นที่ที่เรียกว่า “salon” เพื่อใช้พูดคุยแลกเปลี่ยนและสะสมแนวคิดต่างๆ มาก่อน ดังนั้นเมื่อฝรั่งเศสมั่นคงทางการเมืองในศตวรรษที่ 18 ความรุ่มรวยของงานศิลปะ งานเขียน บทกวี ยิ่งหลากหลายเเละรุ่มรวยโดยมี “สถาบันทางศิลปะ” มากำหนดคุณค่าและมาตรฐานงานศิลปะ แต่กระนั้นก็ยังคง “ขนบ” บางอย่างไว้ และพยายามรื้อฟื้นศิลปกรรมไปสู่ยุคคลาสสิคใหม่ (neo classic) แต่ละปี ศิลปิน พ่อค้า ชนชั้นสูงในยุโรปต่างมาที่ปารีสเพื่อจัดหางานศิลปะที่มีชื่อเสียงเพื่อเเสดงฐานะของตน ผ่านอำนาจของสถาบันทางศิลปะ 

กลางศตวรรษที่ 19 Gustave Courbet ได้ส่งภาพเขียนภาพหนึ่งไปท้าทายระบบคุณค่าของสถาบันทางศิลปะ โดยไม่แจ้ง เขานำภาพเขียนชื่อ The stone breaker(1849) ไปจัดแสดงที่ Paris Salon งานแสดงศิลปะที่ยิ่งใหญ่และสำคัญแห่งยุค ภาพเขียนนี้เป็นภาพกรรมกรเหมืองหินที่กำลังทำงานในชีวิตประจำวัน ภาพเขียนนี้ตบหน้าศิลปิน และนักวิจารณ์ศิลปะที่เฝ้าพิทักษ์คุณค่าอันสูงส่งของขนบภาพเขียนแบบ Historical Painting ที่พื้นที่ของผืนผ้าใบใช้เพื่อบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และเหตุการณ์สำคัญในอดีต พวกเขาไม่รู้จะเรียกภาพเขียนนี้ว่าอะไร หรือ ใครอยู่ในภาพเขียน มันเป็นแค่ชีวิตประจำวันของเเรงงานเท่านั้น

อย่างไรก็ดี กุสตาฟ คูแบร์ ได้บุกเบิกพื้นที่สำคัญของมูฟเม้นท์ทางศิลปะที่เรียกว่า “Realism” ให้เข้าสู่โลกของสถาบันทางศิลปะ แม้ก่อนหน้านี้จะมีกลุ่มจิตรกรที่เขียนภาพจากวิวทิวทัศน์ความภาพสะท้อนความจริงจาก “ธรรมชาติ” ไปบ้างแล้ว แต่งานของคูแบร์ ทำให้เห็นว่า “ศิลปะเป็นเครื่องมือชั้นดีในการเล่าเรื่องราวทางสังคม” เขายังได้เขียนงานทำนองนี้ออกมาอีกมากและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายสอดคล้องกับการตื่นตัวเรื่องสิทธิและความทุกข์ยากของชนชั้นแรงงานทั่วยุโรป ภาพเขียนของเขาจึง “สัมผัส” กับผู้คนที่ไม่จำเป็นต้องรู้หนังสือ รู้ประวัติศาสตร์ หรือเรื่องมหัศจรรย์ใดๆ 

หลังจากนั้นกระแสงานแบบสัจนิยมก็ถูกขับเคลื่อนและท้าทายความบริสุทธิ์ของศิลปะ แบบโรแมนติกและนีโอคลาสสิคจากที่เคยกล่าวกันว่า ศิลปะเพื่อศิลปะ ในตอนนี้ศิลปะ คืองานเพื่อ “สังคม” ซึ่งทำให้กระแสศิลปะเเนวนี้ไปปรากฏในหมู่ผู้นิยมลัทธิสังคมนิยมหรือพวกศิลปะเพื่อการ “ปฏิวัติ” ในศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน