explicitClick to confirm you are 18+

[แนะนำหนังสือสามัญประจำบ้าน] มองการตีความเป็นอีสานใหม่ผ่านหนังสือชื่อ "สู่วิถีอีสานใหม่" โดย พัฒนา กิติอาษา

IdeooJul 13, 2020, 8:21:34 AM
thumb_up38thumb_downmore_vert

หลังจากคราวที่เเล้วผมแนะนำหนังสือเรื่อง "เขียนชนบทให้เป็นชาติ" ไป (ดูใน https://www.minds.com/newsfeed/1123519255519612928?referrer=ideoo)

หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า "ปัญหาภาคอีสาน" ไปบ้างแล้ว เพราะมันมีส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐพยายามควบคุมอีสานให้เป็นส่วนหนึ่งกับไทยให้ได้ ทีนี้เรามองชวนมองประเด็นในยุคต่อมา ว่าหลังสงครามเย็นถึงยุคโลกาภิวัฒน์ ความเป็นอีสานกับความเป็นชาติและความเป็นทุนนิยมมันไปกันอย่างไร

.........หนังสือเรื่อง “สู่วิถีอีสานใหม่” ของพัฒนา กิติอาษา ต้องการพิจารณาพลวัตของชุมชนอีสานภายใต้กรอบเวลาของช่วง “หลังสงครามเย็น” คือช่วงปี พ.ศ. 2523 จนถึงทศวรรษปัจจุบัน เพราะเหตุผล 2 ประการ คือ 

1.สงครามเย็นเป็นหมุดหมายของยุคสมัย ด้วยเหตุการณ์การต่อสู้ของโลกเสรี ละโลกคอมมิวนิสต์ส่งผลถึงนโยบายรัฐบาลไทย และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ใช้พื้นที่ของชุมชนเป็นสมรภูมิของอุดมการณ์การพัฒนาทำให้การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของชุมชนหมู่บ้านในอีสานไม่สามารถละเลยช่วงเวลาดังกล่าวได้ 

2. หลังสงครามเย็นจบลงใน พ.ศ. 2523 สำหรับอีสานแล้วนี่คือช่วงเวลาที่เรียกว่า “รอยแยกทางประวัติศาสตร์ เป็นจุดเริ่มต้นของของความสงบในภูมิภาค เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และโครงข่ายสาธารณูปโภคเพื่อเชื่อมโยงประเทศภายใต้โลกโลกาภิวัตน์

..............จากนั้นพัฒนา กิติอาษา ยังได้พาผู้อ่านย้อนรอยภาพของสังคมอีสานในอดีตที่ส่งผลต่อปัจจุบันอย่างแยบคายผ่านการมองวรรกรรมซีไรท์อย่าง “ลูกอีสาน” ของคำพูน บุญทวี มาผนวกเข้ากับแนวคิดทางจิตวิทยาสังคมเรื่อง "แรงปรารถนา" ของ กิลล์ เดอลูช (1925-1995) นักปรัชญาสายจิตวิเคราะห์ เพื่อสะท้อนภาพ “แรงปรารถนา” ของสังคมและผู้คนในอีสานในอดีตจนถึง 2 ทศวรรษก่อนชาวอีสานจะถีบตัวดิ้นรนทำงานในกรุงเทพฯ และ มาสู่นโยบาย “ผัวฝรั่ง” หรือเขาจงใจใช้คำว่า “ตู้เอทีเอ็มเคลื่อนที่” สำหรับครอบครัวอีสาน อันแสดงการเปลี่ยนแปลงของ “เรือนกาย” ทางสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง

..............แรกเริ่มเป็นการพูดถึงอีสานในเชิงเศรษฐกิจ เพราะนับเนื่องแต่อดีตมาอีสานถูกมองว่าเป็น “สังคมไทยโบราณ” ซึ่งผู้คนดำรงอยู่ก้วยการเกษตรกรรมในครัวเรือน ในหมู่บ้านมีบ้าน 20-30 หลัง เก็บของป่า ทำงานหัตถกรรม ด้วยความที่อีสานพึ่งพาตัวเองและชุมชนอื่นๆ ในอินโดจีนมากกว่าที่จะเป็นรัฐสยาม จึงขัดกับความต้องการของผู้ปกครองที่ต้องการรวมอำนาจสู่ส่วนกลาง รัฐจึงทำให้ในขณะเดียวกันก็บีบให้ชาวอีสานต้องการเงินบาทมากขึ้น ให้มีการอพยพรับจ้างทำงานจากมณฑลเหนือจรดใต้สุด อัตลักษณ์อย่างแรกของอีสานจึงถูกผลิตซ้ำ คือการสะท้อนผ่านภาพการเคลื่อนที่และโยกย้ายทั้งในเชิงกายภาพและความคิดของผู้คนในอีสาน ในตัวบทของลูกอีสานที่นับเป็นการเขียนแบบ “ประสบการณ์นิยม” ทำให้เห็นว่า “บักคูน” หรือตัวคำพูนเองคือหนึ่งในหนุ่มอีสานที่ต้องดิ้นรนทำมาหากิน ไม่ว่าการทำนา รับจ้าง เพื่อยกระดับชีวิต ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็น “อัตลักษณ์” ของชาวอีสานว่าต้องเดินทางแสวงโชคเพื่อยกระดับตนเองและครอบครัว

..............อัตลักษณ์นี้ส่งต่อมาในยุคสงครามเย็น บริบทของสงครามเย็นได้ผลิตอัตลักษณ์ใหม่ให้อีสาน ได้แก่ 1. เป็นยุทธศาสตร์ทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหารและสังคม 2.เป็นพื้นที่ปัญหาเชิงอุดมการณ์ที่รัฐไทยต้องควบคุม 3.การแก้ไข “ปัญหาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ต้องใช้ “การพัฒนาที่เข้มข้น” มาเป็นกลยุทธ์ 4.ผลิตซ้ำภาพลักษณ์ล้าหลัง (เหมือนในวรรณกรรมลูกอีสาน) 5.ผลิตซ้ำความเป็นอื่นให้กับชาวอีสาน เช่น เป็นแรงงานต่ำต้อย ชาวชนบทผู้ตรอมตรมกับความยากจน และสุดท้ายก็ถูกคลี่คลายในช่วงโลกหลังสงครามเย็นที่ถูกตั้งแบ่งหรือหมุดหมายไว้สำหรับพิจารณา หมู่บ้านอีสานเก่าในฐานะดินแดนอันเป็นปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ได้ค่อยๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยอย่างมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจสังคมและการเมือง ภายใต้กระบวนการที่ก่อรูปหลังสงครามเย็นนี้อีสานก็ค่อยๆ เผยโฉมอัตลักษณ์ของตนพร้อมกับปลดเปลื้องภาพล้าหลังด้อยพัฒนาออกไปสู่ “ความทันสมัย” อย่างช้าๆ

..........

หนังสือเล่มเดียวนี้แหละครับ ที่ทำให้หมุดหมายที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมหมู่บ้านอีสานในยุคใหม่ (หลังสงครามเย็น) ทำให้ผมสามารถระบุได้ชัดเจนว่า อีสานในยุคหลังสงครามเย็น (อาจจะในระหว่างสงครามเย็น) ได้หมดสิ้นความระแวดระวังและความขัดแย้งทางศาสนาไปแล้ว (การเบียดบังศาสนาในอีสาน ดูเพิ่มใน "กรณีสองคอน:  การฆ่าผู้เห็นต่างทางศาสนาและการคลี่คลาย" https://www.minds.com/newsfeed/1129087193457307648?referrer=ideoo)

เพราะอีสานนั้นเป็นเหมือนร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปตาม “แรงปรารถนา” ซึ่งแรงปรารถนาในยุคต่อไปคือ “ความเติบโตทางเศรษฐกิจ”

.............................................................................................................................

ชวนอ่านต่อเนื่อง

.............การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของอีสาน ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่ปี 2540 – ปัจจุบัน งานชิ้นสำคัญคือหนังสือรายงานวิจัยเรื่อง “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” โดย อภิชาต สถิตนิรามัย ยุกติ มุกดาวิจิตร และนิติ ภวัครพันธุ์ ซึ่งนำข้อมูลเชิงสถิติมาบ่งชี้ให้เห็นปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันไม่ว่าจะเป็นการล่มสลายของเศรษฐกิจใน ปี 2540 หรือการหาเสียงเลือกตั้งแบบใหม่โดยพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นแรงเหวี่ยงสำคัญที่ทำให้ “นโยบายประชานิยม” ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกและได้รับการตอบรับ ทั้งนี้ถือได้ว่า “พรรคไทยรักไทย” กระตุ้นถูกจุดสำคัญ คือการกระจายทุนและอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ชนบท โดยเฉพาะแผ่นดินกว้างใหญ่และเต็มไปด้วยแรงงานราคาถูก คือ ภาคอีสาน

..............แม้กรุงเทพจะประสบวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 แต่ไม่ทันสิ้นทศวรรษที่ 2540 อีสานกลับเติบโตแบบก้าวกระโดดส่งผลให้คุณภาพชีวิตของกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “ชนชั้นล่าง” แทบจะหมดไป ไม่ว่าจะเป็นในเชิงสาธารณสุขที่เป็นระบบ 30 บาทอันกระจายการเข้าถึงสาธารณสุขได้ หรือการศึกษากับนโยบายปฏิรูปที่ทำให้เด็กเยาวชนในอีสานเข้าถึงโอกาสในการเรียน สิ่งที่สำคัญ คือ การลงทุนภาคเกษตรกรรมที่ชาวนาสามารถเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นทุนเพื่อนำเงินในนอนาคตมาใช้ การเติบโตทางการผลิตเช่นนี้ทำให้ระบบการเกษตรของอีสานเปลี่ยนไปสู่ระบบเกษตรเชิงพาณิชย์อย่างสิ้นเชิง และขับเคลื่อนชาวนาอีสานจาก “แรงงาน” ไปสู่ “ผู้ประกอบการ” หรือเป็น “ชนชั้นกลางระดับล่าง” นั่นเอง