อีสาน เป็นดินแดนหนึ่งที่มีมีผู้นับถือคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิกมากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่แถบสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร จนยกระดับขึ้นเป็น "อัครสังฆมณฑล ท่าแร่-หนองแสง" เทียบชั้นเดียวกับ "อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ" อะไรทำให้พื้นที่แถบนี้นิยมคาทอลิกมากเพียงนั้น เพราะช่างดูค้านกับความเชื่อเดิมว่าชาวอีสานยึดมั่นพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า
.......ผมเริ่มด้วยคำถามข้างต้นนี้ เพราะคริสต์ศาสนาไม่ใช่ศาสนาดั้งเดิมของผู้คนในแถบอุษาคเนย์ การเผยแพร่มาจากชาวตะวันตกที่เข้ามายังเมืองท่าสำคัญๆ ในไทย ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ยุคอยุธยาตอนกลาง รุ่งเรืองในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งแรกนั้นเผยแพร่กับกลุ่มพ่อค้าต่างชาติที่เข้ามาทำการค้าในอยุธยา คือเมื่อพ่อค้าชาวคริสต์ตั้งถิ่นฐานแล้ว บาทหลวงก็จะตามมาพร้อมกับเริ่มตั้งต้นการเผยแพร่ ทั้งนี้พระนารายณ์ทรงมีพระราชไมตรีต่อฝรั่งเศสทำให้คณะมิสซังฝรั่งเศสสามารถส่งคนเข้ามาเผยแพร่ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกได้อย่างกว้างขวางไปควบคู่กับการขยายอิทธิพลของฝรั่งเศสด้วย
........บริบทของคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิกเริ่มในอีสานล่าง ซึ่งเกิดจากความพยายามวางรากฐานทางคริสต์ศาสนาของพระสังฆราช เวย์ (Wey) ในปี พ.ศ. 2419 ได้ส่งบาทหลวงแปร์โรไปเผยแพร่ศาสนาที่แก่งคอย สระบุรี แต่ไม่คุ้มกับค่าแรงงานที่สละลงไปเนื่องจากเป็นพื้นที่ชื้นแฉะ เสี่ยงต่อชีวิตมิชชันนารีและคนอาศัยอยู่บางเบา จึงได้ส่งบาทหลวงกองสตังค์ ยังบั๊ปติสต์ โปรดม (Prodhome) และฟรังซีส มารี ซาเวียร์ เกรโก ไปช่วยงานบาทหลวงแปรร์โร (Parraux) เนื่องจากพระสังฆราชมีความมุ่งมั่นที่จะเผยแพร่ศาสนาในอีสานโดยกำหนดเอาเมืองอุบลราชธานีเป็นศูนย์กลางแห่งแรกในการวางรากฐานอย่างจริงจัง ในปี พ.ศ. 2424 จึงอาศัยอำนาจของรัฐบาลฝรั่งเศส โดยให้กงสุลฝรั่งเศสประจำสยามออกหนังสือถึงผู้สำเร็จราชการมหาดไทยในขณะนั้น (สมเด็จพระเจ้ากรมบรมวงศ์เธอกรมพระบำราบปรปักษ์) เพื่อขอความคุ้มครองคณะบาทหลวงจากหัวเมืองต่างๆ ในอีสานและลาว โดยเดินทางผ่านแก่งคอย ดงพญาเย็น โคราช ขอนแก่น กาฬสินธุ์ กมลาไสย ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และสู่เมืองอุบลราชธานีในที่สุด (สุจิตรา ปูรณะปัญญา, 2542)
..........การเผยแพร่ศาสนาในอีสานล่างช่วงเวลานั้นไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากในภาคกลางมีกลุ่มคริสตชนที่เป็นคนจีนอยู่แล้วการเผยแพร่คำสอนแบบบอกต่อจึงง่าย แต่ในอีสานผู้เข้ารีตใหม่ล้วนเป็นชาวลาว และชาวพื้นบ้านที่นับถือภูตผีปีศาจและวิญญาณ ไม่มีผู้เป็นคาทอลิกอยู่ก่อนเลย แต่ก็ยังมีชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มต้องการพึ่งพามิชชันนารีอยู่บ้าง
..........ดังนั้นในช่วงที่บาทหลวงแปร์โรและโปรดมเดินทางขึ้นไปที่อุบลราชธานี พวกเขาได้รวบรวมเอาชาวพื้นเมือง ข่า ทาส ที่สนใจในศาสนาคริสต์เตรียมตั้งชุมชนที่บริเวณ “บุ่งกะเเทว” นับเป็นคริสตจักรลาวแห่งแรก สองปีต่อมาเขาเดินทางขึ้นไปยังนครพนมแล้วพบว่ามีชาวญวณที่เป็นคริสต์ (เวียดนาม) อพยพมาอยู่แล้วในช่วงฝรั่งเศสยึดครองเวียดนามราวสงครามโลกครั้งที่ 1 เนื่องจากเวียดนามดิ้นรนที่จะเป็นอิสระจากฝรั่งเศสญวนในเดียนเบียนฟูหรือทางภาคเหนือจึงหนีภัยทางการเมืองมา (อพยพมาอีกระยะในช่วงสงครามเวียดนาม) โปรดมได้รวบรวมจำนวนหนึ่งไว้แล้วหาทางสร้างวัดขึ้นมา ระหว่างที่เขาเดินทางไปกลับนครพนม-อุบลราชธานี ก็ได้ไปอยู่ที่สกลนครซึ่งมีชาวคริสต์ญวณอยู่จำนวนหนึ่งแล้วเช่นกัน แต่ชาวเมืองไม่พอใจท่านรวมถึงชาวญวณที่อาศัยอยู่ที่นั่นด้วยจึงได้อพยพเอาชาวคริสต์ย้ายไปตั้งชุมชนอีกฝั่งของหนองหาร คือ “ท่าแร่” ในปัจจุบัน ซึ่งการตั้งหลักแหล่งของชาวคริสต์ในอีสานนี้ต่างจากภาคกลางตรงที่มีทั้งญวณที่เป็นคริสต์อยู่แล้ว ญวณที่เข้ารีตใหม่ อีกส่วนเป็นทาสที่บาทหลวงได้ไถ่ตัวไว้
........การจะให้ชาวลาวนับถือคริสต์ศาสนาไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยรากความเชื่อดั้งเดิมฝังแน่นกับวิถีชีวิต แต่ก็มีเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้ชื่อเสียงของคณะมิชชันนารีแพร่ไปอย่างรวดเร็ว อาจเริ่มต้นที่อุบลราชธานี ครั้งนั้นชาวกุลา (พ่อค้าคาราวานชาวไทใหญ่) จับชาวลาวจากเมืองพวน 18 คน มาขายในเมืองอุบลฯ บาทหลวงโปรดมขณะนั้พักอยู่ที่ว่าการเมืองได้ช่วยยื่นคำฟ้องร้องเพื่อปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระ ต่อมาคนกลุ่มนี้จึงอยู่ในความดูแลของโปรดมและได้รับการสอนศาสนากลุ่มแรก การปลดปล่อยทาสด้วยกระบวนการยุติธรรมและด้วยเงินจึงเป็นวิธีการหนึ่งในการเผยแพร่ศาสนา
.........ในขณะเดียวกันในช่วง 2429 อีสานเกิดความแห้งแล้งยาวนานขาดแคลนอาหารและเจ็บป่วยคณะมิชชันนารีได้ยื่นมือเข้าช่วยทั้งอาหารและยารักษาโรค พร้อมกันสอนศาสนาไปคู่กัน และอีกประการที่สำคัญ คือ ให้การศึกษาทางภาษา และวิทยาการควบคู่กับศาสนา ทำให้ผู้คนมีช่องทางทำมาหากิน อนึ่งยังมีการสงเคราะห์ที่ทางอยู่อาศัยในป่าบุ่งกะเทว อันทำให้บุ่งกะเทวเป็นชุมชนใหญ่โตในที่สุด เหล่านี้ล้วนส่งผลให้ชื่อเสียงของคณะบาทหลวงโด่งดัง ทำให้ผู้คนหันมาเข้ารีตเรื่อยๆ จนเมื่อมิสซังต่างๆ มีคนจำนวนมากขึ้นก็เปลี่ยนฐานะเป็นสังฆมณฑล
..........ความแออัดของพื้นที่ในบุ่งกะเเทวเป็นหนึ่งแรงผลักดันให้อพยพขยับขยายไปตามเส้นทางอื่นๆ ตามลักษณะวัฒนธรรมของหมู่บ้านในอีสาน กล่าวคือ มีรูปแบบอยู่ไม่ติดที่เนื่องจากต้องแสวงหาที่ทำกินใหม่ๆ เป็นการอพยพของชาวนาเพื่อหนีจากภัยแล้ง น้ำท่วม โรคระบาด ภัยจากโจรผู้ร้าย เพื่อหาถิ่นที่อุดมสมบูรณ์กว่าเดิม แต่การตั้งหมู่บ้านใหม่ต้องใช้ระยะเวลากว่า 20-30 ปี บางแห่งก็ 40-50 ปีจึงจะถึงยุคนากว้างเป็นทุ่งถนนตัดผ่าน ทำให้หมู่บ้านในอีสานมีประวัติการตั้งถิ่นฐานค่อนข้างสั้นกว่าในภูมิภาคอื่นๆ ที่สืบเนื่องไปได้หลายร้อยปี (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และพรพิไล เลิศวิชา, 2541:57-59) ชาวบ้านที่แตกขยายครัวเรือนออกไปได้นำเอาความเชื่อติดตัวไปด้วย และเมื่อมีคนจำนวนหนึ่งคณะมิสซังก็จะส่งบาทหลวงไปช่วยนำประกอบพิธีกรรมและพัฒนาท้องถิ่นนั้นๆ ขึ้นมา
...........จากกรุงเทพ ไปอุบลราชธานี และจากอุบลราชธานี คณะมิชชันนารี และผู้คนชนกลุ่มน้อยที่เริ่มนับถือคาทอลิกก็ได้พบกับคนญวณกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มที่อพยพข้ามโขงมาที่นครพนมและสกลนคร ซึ่งพวกเขาคุ้นเคยกับคริสตศาสนาแล้ว ดังนั้นจึงอาศัยพลังของชาวญวนนี้ตั้งชุมชนชาวคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศขึ้นมา
...........แต่กว่าจะตั้งชุมชนได้เป็นตัวของตนนั้น ชาวคาทอลิกต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการเหยียดศาสนามากมาย มีคนตายมหาศาล กรณีที่โด่งดังคือ การยิงชาวคริสต์ที่ไม่ยอมเปลี่ยนเป็นศาสนาพุทธในกรณี บ้านสองคอน จังหวัดมุกดาหาร (เก็บไว้เขียนบทต่อไปนะ)