explicitClick to confirm you are 18+

วัฒนธรรมไฮบริดจ์กับความจริงเทียมในการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

IdeooJun 27, 2020, 8:51:06 AM
thumb_up62thumb_downmore_vert

มาวิเคราะห์ประเด็นเบาๆ ฟินๆ กับการท่องเที่ยวกันบ้างครับ เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินภาวะความจริงเทียม หรือ อดีตประดิษฐ์ ที่เป็นที่นิยมมากในช่วงหนึ่ง ผมเองก็ชอบที่จะไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวแบบนี้ เพราะมันฟินพอสมควร

ทีนี้เรามาดูว่าในมุมมองด้านวัฒนธรรมแล้ว เราสามารถวิเคราะห์แตกย่อยได้อีกว่าสิ่งที่เราไปเสพและชื่นชมเพื่อความฟินนั้น มองอะไรในเชิงความรู้ได้อีกบ้าง โดยผมจะเริ่มที่อาหารกับการไฮบริดจ์วัฒนธรรมในการท่องเที่ยว

......

ก่อนอื่นเลยต้องเข้าใจคำว่า วัฒนธรรมไฮบริด คือ รูปแบบวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานกัน โดย โฮมี่ บาบา (Homi Bhabha) ผู้ซึ่งเสนอความคิดว่า ไม่มีวัฒนธรรมใดที่เป็นหนึ่งเดียวแต่ทุกวัฒนธรรมจะมีลักษณะเป็นแบบ “พันธุ์ทางลูกผสม”(hybridity) ทุกวัฒนธรรมจะเปลี่ยนแปลงแปลงอย่างสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอื่นตลอดเวลากระบวนการผสมผสานข้ามสายพันธุ์ทางวัฒนธรรม (cultural hybridisation) จึงเป็นพื้นที่ใหม่ของการต่อรองและสร้างสรรค์ความหมายใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นตลอดเวลาในโลกแห่งวัฒนธรรม ซึ่งแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมเป็นการผสมนี้ สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัฒน์ และยุคดิจิตัลที่การสื่อสารวัฒนธรรมแพร่หลายทำให้ผู้คนได้รับรู้ข้อูลและเลือกลอกเลียนหรือปรับแต่งวัฒนธรรมอื่นๆ ให้เข้ากับตนได้อย่างหลากหลาย หนึ่งในนั้น คือ อาหารพื้นถิ่นที่สัมพันธ์กับการท่องเที่ยว

อาหารพื้นถิ่นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นลักษณะวัฒนธรรมลูกผสมได้ง่ายที่สุด เช่น กรณีชาวใต้ที่อพยพขึ้นไปซื้อที่ดินในภาคอีสานจำนวนมากในยุคที่รัฐบาลสนับสนุนการปลูกยางพารา หลังจากนั้นไม่นานปรากฏร้านอาหารใต้ ข้าวแกงใต้ ไก่ทอดหากใหญ่ขึ้นในตลาด และหลายหมู่บ้านในอีสาน

อีกกรณีที่เห็นได้ชัด คือ แรงงานชาวอีสานที่อพยพมาทำงานในกรุงเทพ ได้นำวัฒนธรรมการใช้ข้าวคั่วสำหรับทำอาหารมายังกรุงเทพ เมื่อแรงงานชาวอีสานจะทำลาบ ซึ่งเป็นอาหารพิเศษที่ในอดีตหาทานได้เฉพาะช่วงเทศกาลหรือโอกาสสำคัญที่ต้องล้มสัตว์ใหญ่ ได้เนื้อสดๆ สับรวมกันกับเครื่องสมุนไพรให้เสร็จบนเขียง คลุกเคล้าด้วยเลือดและดีให้รสขม แล้วปรุงรสด้วยข้าวคั่วให้ได้กลิ่นหอม ขณะที่การทำงานในกรุงเทพนั้นการล้มสัตว์เป็นเรื่องแปลกประหลาดเพราะเราสามารถซื้อเนื้อสัตว์ได้จากตลาด ซึ่งขาดความสดทำให้เริ่มมีการลวกหรือรวนให้สุกแล้วจึงปรุงรสโรยข้าวคั่วคล้ายลาบ ใช้มะนาวน้ำตาล และอื่นๆ ซึ่งลาบอีสานในยุคใหม่นี้ คือ การผสมผสานระหว่างยำ และ ลาบ ในจานเดียว นี่เป็นอาหารไฮบริดแรกๆ ที่หลายคนมองข้าม

ตัวอย่างง่ายๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าเมื่อผู้คนเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่ของตนได้นำเอาวัฒนธรรมของตนไปด้วย แต่ไม่สามารถใช้ได้ทั้งหมด จึงต้องมีการปรับปรุงตาม แต่ผลที่ได้คือ “นวัตกรรม” เป็นลาบที่ถูกปากคนทั้งโลก กลายเป็นว่าไปที่ไหนๆ คนก็เข้าใจว่านี่คืออาหารอีสาน แม้แต่คนอีสานรุ่นใหม่ ขึ้นชื่อว่ากินอาหารอีสานคือลาบหมู หรือ ยำหมูใส่ข้าวคั่ว อาหารอีสานของคนกรุงเทพจึงเป็นภาพจำทั่วไปว่าคนอีสานดั้งเดิมทานอาหารเช่นนี้ และนี่กลายเป็นความจริง

วัฒนธรรมไฮบริดจ์ อาจส่งผลต่อการกำหนดสร้างความจริงในสมัยใหม่นี้อย่างมีนัยยะสำคัญ คือ การเคลื่อนไหลของผู้คนในโลกโลกาภิวัฒน์ ทำให้วัฒนธรรมเกิดแบบแผนเดียวกันเป็นระบบโลก ไม่ว่าจะไปที่ไหนในโลกปุ่มสีเขียวก็คือปุ่ม “สตาร์ท” ทำให้เกิดกระแสการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ๆ เพื่อให้ตนเเตกต่าง ซึ่งการสร้างความแตกต่างนี้ บางครั้งคือการหวนไปหาอดีต หรือ Nostaljia โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวมากมายเริ่มสร้างความเก่าแก่ ดั้งเดิม “สโลไลฟ์” ชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งเริ่มหาความเก่าของตัวเองมาขายเพื่อให้มีพื้นที่ในโลกทุนนิยมมากขึ้น บางครั้งเกิดสิ่งที่เรียกว่า การสร้างความจริงเทียม หรือ Stage Authenticity ขึ้นมาเพื่อให้นักท่องเที่ยวชื่นชอบและถ่ายรูป และการสร้างความจริงเทียมนี้เป็นวัฒนธรรมไฮบริดหรือไม?

บนถนนคนเดิน เมืองเชียงคาน เราจะเห็นความ Hybidity เป็นอย่างยิ่ง ทั้งบ้านเรือนเก่าๆ ที่รีโนเวทเป็นที่พักชิคๆ แต่ให้คงไม้ซึ่งความเป็นเรือนไม้อันเป็นลักษณะวัฒนธรรมของชุมชนดั้งเดิม พลังของการอนุรักษ์ภาพเมืองแห่งเรือนไม้ไว้ ทำให้ทุนใหญ่ที่เปิดร้านในเมือง เช่น เทสโก้ โลตัส หรือ เซเว่น อีเลเว่น ต้องปรับสีประจำแบรนด์ของตนเป็นสีนำตาลเพื่อให้กลมกลืนกับเมือง ภูมิทัศน์ของเมืองจึงถูกสร้างไว้ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชม ว่านี่คือเมืองริมโขงที่อุดมไปด้วยเรือนไม้ ใช้ชีวิต สโลไลฟ์ ราวกับว่าผู้คนที่นี่ใช้ชีวิตสโลไลฟ์

การตักบาตรเป็นสิ่งที่เเสดงให้เห็นว่าได้มาซึมซับความเป็นท้องถิ่น จุดขายของโรงแรมที่พักในเมืองคือการขายชุด “ตักบาตรข้าวเหนียว” ประกอบไปด้วย “ขันโตก?” กระติบข้าวเหนียว และกับข้าวบางชนิด แถมด้วยผ้าซิ่นลายผสม และผ้าเบี่ยง (สไบลาว) สำหรับเซตฉากยามเช้า จนคนอีสานอย่างผู้เขียนก็อยากจะเข้าร่วมด้วย แต่นึกขึ้นได้ว่าคนอีสานโดยทั่วไปก็ตักบาตรข้าวเหนียวกันอยู่เเล้ว

อาหารที่เชียงคาน แสดงความเป็นวัฒนธรรมไฮบริดที่สุด แม้จะชูความเก่าแก่ดั้งเดิม แต่ในเมืองหรือตลาดคนเดินมีอาหารมาหลากหลายแหล่งแห่งที่ เช่น ก๋วยจั๊บญวน ข้าวเปียก ปังญวน ไข่กะทะ พิซซ่า สปาเกตตี้ และอื่นๆ หลากหลายเหมือนกับอยู่กรุงเทพไม่มีผิด แต่สิ่งที่หาได้ยากคือ อาหารจากปลาแม่น้ำโขง อาหารพื้นเมืองของชาวเชียงคาน ซึ่งส่วนใหญ่ทำประมงในแม่น้ำโขง ดังนั้นแม้จะเป็นเมืองที่เชิดชูความเก่าแก่ดั้งเดิม แต่ก็คงความหลากหลายทางอาหาร และผสมผสานมาจากหลายวัฒนธรรม

จากตัวอย่างที่ยกมานี้ วัฒนธรรมไฮบริดจ์ เป็นสิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นการประกอบสร้างความจริงเทียม (Stage Authenticity) เพื่อพัฒนาพื้นที่การท่องเที่ยว ไม่ได้หมายความว่าสองสิ่งนี้จะเลวร้าย หรือละทิ้งความดั้งเดิมของวัฒนธรรมชุมชน หากแต่อาจเป็นทางออกสำหรับการพัฒนาและปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของตนให้เหมาะสมกับยุคสมัย 

แต่นั่นแหละครับ รู้ไว้ใช่ว่า การไปท่องเที่ยวนั้นเราไปเพื่อความฟินส่วนตัว เราไม่ควรเอามุมมองแบบนี้ไปดูถูกเหยียดหยามใคร 

แต่เราต้องระลึกถึงเสมอว่าสิ่งที่เราเสพ คือ ความจริงเทียม ที่สร้างให้เราพึงใจ หากผู้ขายและผู้ซื้อพึงใจก็วินๆ 

ยกเว้นแต่เราเป็นพวกที่ต้องจัดการเพื่อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม เช่นนั้น เราก็ต้องระวังให้มากไม่ให้สาระสำคัญของวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกบ่อนทำลายไปจากการท่องเที่ยว 

เช่นที่ เชียงคาน เราเจออาหารทุกแบบ ทั้งไข่กะทะ จั๊บญวณ ข้าวเปียก ไปยันแฮมเบอร์เกอร์และพิชซ่า แต่สิ่งที่เราไม่เจอบนจานที่เสริฟอาหารในที่พัก หรือร้านชิคกๆ ต่างๆ คือ ปลาเเม่น้ำโขง ปลาพื้นเมือง สาหร่ายน้ำจืด ฯลฯ ซึ่งนี่คือชีวิตของคนพื้นเมืองเชียงคาน

หากเราละเลยตรงนี้ ก็เท่ากับว่าเราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หรือ โหดร้ายกว่านั้น คือ วิถีทางวัฒนธรรมของผู้คนถูกทำลายไปแล้วจากเขื่อนจีน 

อันนี้แล้วแต่จะมอง สุดท้ายขอให้ท่องเที่ยวอย่างมีความสุขครับ อิอิ