วันนี้มาขอเล่าโศกนาฏกรรมโดยฝีมือของผู้ชายต่อผู้หญิง น่าสงสารคนนึง
เรื่องราวของโศกนาฏกรรมความรักที่เกิดขึ้นในราชสำนัก นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ และยากที่จะลืม
เป็นคู่ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กับหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ ภาณุพันธุ์ พระธิดาองค์โตในสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้า ภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช (สมเด็จวังบูรพา)
กล่าวกันว่า ท่านหญิงทิพย์เป็นกุลสตรีที่มีพระสิริโฉมงดงามและเพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติที่ฝ่ายในพึงมี หลังการเกศากันต์ได้ไม่นานท่านหญิงทิพย์ก็ได้เข้าไปฝึกหัดอย่างชาววังในสำนัก ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี เรียนรู้การเรือน และภาษาต่างประเทศตามที่กุลสตรีชั้นสูงพึงมี คุณสมบัติเพียบพร้อมสมบูรณ์ทุกประการ
ทั้งยังทรงมีความใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เพราะโปรดให้ตามเสด็จประพาสหัวเมืองด้วยเสมอ
ด้วยความเห็นชอบว่าสมกันดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จึงทูลกับสมเด็จวังบูรพาผู้เป็นพระอนุชาว่า จะขอหม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์ให้ไปเป็นชายาพระราชโอรสของพระองค์คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายอาภากร เจ้าชายหนุ่มรูปงามที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาหลักสูตรทหารเรือจากประเทศอังกฤษ
หม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์ก็มิได้ขัดข้องแต่ประการใด จึงเกิดงานมงคลสมรส
สร้างความปลื้มปิติยินดีไปทั่ววังหลวง พระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงพอราชหฤทัย เป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทั้งสองพระองค์เข้ารับพระราชทานน้ำสังข์ในพิธีอภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง และพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารอีกด้วย นับเป็นงานสมรสงานแรกในประเทศไทยที่มีการรื่นเริงเลี้ยงอาหารซึ่งเป็นแบบอย่างต่อกันมาจนปัจจุบัน
ในตอนค่ำวันเดียวกันนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย และเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เจ้าคุณจอมมารดาแพ ออกไปส่งตัวท่านหญิงที่วังนางเลิ้ง อันเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเป็นที่ประทับ
ทั้งสองพระองค์ทรงครองรักกันเรื่อยมาจนมีพยานรักร่วมกันเป็นพระโอรส 3 พระองค์ แต่แล้วความรักความสุขที่มีร่วมกันก็เริ่มจางไป ด้วยมีเรื่องต้องขุ่นข้องหมองใจอยู่เป็นนิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่ทางราชการของพระองค์ชายอาภากรที่มากขึ้น ทำให้มีเวลาอยู่ร่วมกันน้อยลง และอีกเรื่องที่เห็นจะเป็นชนวนใหญ่ของปัญหาชีวิตคู่นี้ ก็คือเรื่องที่พระองค์เจ้าชายอาภากร รับเอาหม่อมเล็กๆเข้ามาอยู่ในวังด้วย ทำให้ปัญหาต่างๆเริ่มสั่งสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อันนี้หากหาอ่านพระประวัติของพระองค์เจ้าชายจะเห็นว่าทรงงานมากและเจ้าชู้อยู่ยกตัวอย่าง
พระองค์เคยทรงสู่ขอ" เจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่ (เป็นธิดาของเจ้าดวงทิพย์ ซึ่งเป็นราชบุตรองค์ที่ 10 ของเจ้าราชวงศ์ มหาพราหมณ์คำคง และเป็นอนุชาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ด้วยพระองค์เองกับ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี แต่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงปฏิเสธไปอย่างนุ่มนวลอ้างเอาความเยาว์วัยของเจ้าบัวชุมเป็นข้อขัดข้อง ทำให้พระองค์ทรงผิดหวังมาก
เมื่อเจ้าบัวชุมอายุได้ 35 ปีแล้ว เจ้าบัวชุมได้สอนเปียโนให้หม่อมเจ้าหญิงจารุพัตรที่วังกรมหลวงชุมพร เสด็จในกรมก็ยังไม่ทรงลืมความหลัง รับสั่งกระเซ้าเย้าหยอกตรงๆว่า " เมื่อก่อนนี้เธอสวยมาก ฺฉันอยากได้เธอมาเป็นหม่อมของฉันจริงๆ เสียดายว่าฉันมีหม่อมมากไปเลยไม่อยากเอาชนะเธอ ไม่อย่างนั้นเธอจะต้องมาเป็นหม่อมของฉันจริงๆ "
ช่วงชีวิตหลังสมรสของพระองค์ แทบจะไม่ได้กลับวังของพระองค์ทรงกินนอน ฝึกสอนทหารเรือตลอดเวลา ตลอดจนทรงเดินทางทั้งส่วนพระองค์และราชการต่างเมืองบ่อยจึงไม่ใคร่มีโอกาสได้อยู่ด้วยกัน
หม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์ ทรงมีพระอาการน้อยพระทัย พระสวามี ในวันหนึ่งก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น หม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ ได้ตัดสินพระทัยปลงพระชนม์ชีพพระองค์เองด้วยการเสวยพระสุธาพิษ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2451 และได้สิ้นชีพิตักษัยเวลา 10.50 นาฬิกา พระชนม์ 23 ปี ขณะที่หม่อมเจ้ารังษิยากร พระโอรสองค์เล็กมีพระชนมายุได้เพียง 1 พรรษา
โดยพระองค์ได้เอ่ยคำสุดท้ายไว้ว่า "คนที่เรารัก..ก็ยังมิค่อยได้อยู่ใกล้"
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบันทึกไว้ในจดหมายราชกิจรายวัน มีความบางตอนเกี่ยวกับการสิ้นชีพิตักษัยของท่านหญิงทิพย์ ความว่า
"วันนี้เวลาเช้า ๕ โมงเศษ หม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ในกรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์สิ้นชีพตักไษยเพราะเสวยยาพิศม์ เวลาค่ำโปรดให้กรมขุนสมมุต [พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมติอมรพันธุ์] เสด็จไปเยี่ยมสมเด็จกรมพระ [สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช] แลในเวลาค่ำวันนี้ได้มีการรดน้ำแลแต่งศพเหมือนอย่างที่ไว้ที่บ้าน แล้วแห่ศพไปฝัง ณ สุสานวัดเทพศิรินธร์ พระราชทานกลองชนะ ๑๐ จ่าปี ๑ ฉัตร เบ็ญจา ๑๒ คัน..."
สมเด็จวังบูรพา ผู้เป็นบิดา ทรงโศกเศร้าเสียพระทัยเป็นอย่างมาก พระพลานามัยก็ทรุดโทรมเพราะตรอมพระทัยจากการสูญเสียพระโอรสธิดาในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้นิพนธ์กลอนขึ้นมาบทหนึ่ง ความว่า
"เขาไม่รักเราแล้วหนอพ่อจะเลี้ยง
ถึงเวียงวังเราก็มีที่อาศัย
เขาไม่รักเราแล้วก็แล้วไป
จะไปรักใครเขาใยให้ป่วยการ"
นี่คือเรื่องราวความรักที่แสนเศร้าในราชสำนักที่จบด้วยความตายอีกเรื่องหนึ่ง