explicitClick to confirm you are 18+

Common Cognitive bias ตรรกะการคิดแบบวิบัติที่พบได้บ่อย

MeowNonaOct 24, 2020, 3:35:51 AM
thumb_up18thumb_downmore_vert

 

เนื้อหาตรงนี้ผมเคยได้ยินครั้งแรกตอนที่เรียน critical thinking แต่ตอนนั้นรู้สึกเนื้อหามันลึกและก็เข้าใจยากมากๆ เลย (ตอนนั้นจำได้เรียนห้องเรียนรวมกันเป็นพันคนอะ) จนตอนนี้มารู้สึกผิดเพราะมันก็มีที่ให้ใช้เยอะอยู่ทีเดียวในชีวิตประจำวัน เพราะการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ นั้น บางที คนที่ทำเนื้อหาเหล่านั้นก็จะใส่ความคิดเห็นของตัวเองลงไปด้วย และตรงนั้นแหละที่จะมีโอกาสทำให้เกิดการตีความผิดและคล้อยตามแบบผิดๆ ได้ครับ อันนี้ผมจะเอาตัวอย่างมาให้ดูแบบที่เจอบ่อยๆ เข้าใจง่ายๆ นะครับ

 

การทำงานของสมองแฝงไปด้วย bias

การออกแบบของสมองและการคิดของมนุษย์นั้น ก็ถูกออกแบบบนพื้นฐานที่เหมือนๆ กับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด คือ เพื่อที่จะอยู่รอด และสืบพันธุ์ ดังนั้น การตัดสินใจบางอย่าง โดยเฉพาะการตัดสินใจที่เกิดขึ้นเร็วโดยที่สมองไม่ทันได้หยิบได้คิดเหตุผลมารองรับ ก็จะ based-on ความอยู่รอดเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น หากมีใบไม้ไหวหรือมีการเคลื่อนไหวโดยที่เราไม่ได้ทำ เราก็ต้องหันไปดู หรือแม้แต่กระโดดออกห่างจากตรงนั้นไปก่อนที่จะมานั่งคิดว่าคืออะไรอยู่แล้ว หรือแม้แต่ในงานวิจัยที่ให้มนุษย์ทดลองทำการตัดสินใจในเสี้ยววินาที (split-second judgement) หลังจากมองรูปที่คลุมเครือ (ambiguous image) แล้วให้บอกว่าเป็นรูปอะไร โดยทำโดยที่ไม่มีดนตรีประกอบ, มีดนตรีที่น่ากลัวประกอบและมีดนตรีที่ไม่น่ากลัวประกอบ ซึ่งผลออกมาก็คือ ในขณะที่ไม่มีดนตรีประกอบ กลุ่มตัวอย่างจะตีความรูปว่าเป็นสิ่งทีน่ากลัวมากกว่าสิ่งที่ไม่น่ากลัว และนอกจากนี้ การตีความจะมีแนวโน้มไปทางรูปที่น่ากลัวมากขึ้นหากกลุ่มตัวอย่างได้ฟังเพลงประกอบที่น่ากลัวร่วมด้วย แต่ในการทดลองนั้นยังได้พบอีกว่า แม้เพลงประกอบที่ไม่น่ากลัวจะทำให้แนวโน้มการตีความรูปเป็นรูปที่น่ากลัวลดลง แต่ก็ส่งผลได้น้อยกว่าการส่งผลของเพลงที่น่ากลัวต่อการตีความรูปไปในทางที่น่ากลัว ซึ่งก็สามารถอธิบายตามทฤษฎีวิวัฒนาการได้ว่า การตีความให้ดูน่ากลัวกว่าความเป็นจริง เป็นการพัฒนาของสมองในการคิดเพื่อความอยู่รอด บนพื้นฐานของความกลัว ซึ่งก็ฝังอยู่ใน DNA ตามมาจนถึงปัจจุบัน 

 

Figure 1. Ambiguous figures used in experiment: (a) alligator–squirrel, (b) snake–rope, and (c) cleaver–pot.
Figure 2. Mean interpretations as benign (= 0) and dangerous (= 1) for ambiguous figures in no music,happy music, and fearful music conditions.

 

แต่ในปัจจุบันนี้ ความเป็นอยู่ของมนุษย์ก็เปลี่ยนไปมาก ทำให้การคิดด้วยสัญชาติญาณหรือใช้อารมณ์มีแนวโน้มลดลง และใช้เหตุผลมากขึ้น ซึ่งการใช้เหตุผลนั้นเป็นเรื่องที่ต้องฝึกและใช้เวลา เพราะสมองต้องใช้การคิดและตัดสินใจ (เป็นสิ่งที่ในอดีต หากใช้การคิดเช่นนี้ คงจะไม่อยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน) สมองส่วนที่ใช้ความคิดนั้นก็จะแข็งแกร่งขึ้น และเมื่อมีปัญหา สมองก็จะมีแนวโน้มในการใช้หลักความคิดนี้ในการแก้ไขปัญหามากขึ้นตาม เพราะมีแนวโน้มที่จะให้ผลลัพธ์ที่ดีมาก่อน

 

ไม่ใช่ความผิดที่คนเราจะมี bias เพราะเป็นสิ่งที่ฝังมากับ DNA ตั้งแต่ยุคโบราณเพื่อความอยู่รอด แต่การดำรงชีวิตเปลี่ยน ทำให้วิธีการคิดก็ต้องเปลี่ยนตามเพื่อให้เท่าทันการดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบันเช่นกัน เพราะสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์ คือสิ่งมีชีวิตที่มี adaptability หรือการปรับตัวครับ

 

Confirmation bias

คนเรามักจะเลือกข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อของเรา

คือการเลือกฟังและเลือกรับข้อมูลเฉพาะที่สนับสนุนความคิดหรือความเชื่อของเรา และเลือกที่จะไม่รับฟังหรือเลือกข้อมูลที่มีแนวทางที่โต้แย้งเรา ซึ่งปัจจุบันความโน้มเอียงลักษณะนี้สามารถเจอได้ในทุกวันไม่ว่าจะจากการเลือกติดตามเพื่อนหรือเพจต่างๆ ใน social media หรือแม้กระทั่งการที่เราเริ่มพิมพ์ข้อมูลหาใน Google ซึ่งทาง Google ก็จะมีการเก็บข้อมูลการใช้งานของเราทุกอย่างเพื่อที่จะทำให้การค้นหาครั้งถัดๆ ไป ทำได้เร็ว และได้เฉพาะเนื้อหาที่คิดว่าเราต้องการจริงๆ (search engine manipulation) ทำให้มันเป็นเหมือนดาบสองคม คือเราได้ข้อมูลที่เราจะใช้ได้เร็วและประหยัดเวลาในการค้นหา แต่ในขณะเดียวกัน เราก็จะได้แต่ข้อมูลที่ผ่านการคัดมาแล้วระดับหนึ่ง และนี่คือยังไม่รวมการเลือกข้อมูลเฉพาะที่ต้องการโดยสมองของเราด้วย หากเราเป็นคนที่ต้องตัดสินอะไร เราคงไม่อยากเป็นคนที่ฟังความข้างเดียวหรอกครับ ทำให้การป้องกันการเกิด bias นี้คือการก้าวถอยมาขั้นหนึ่งแล้วคิดถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการแย้งความคิดนี้เกิดขึ้น และจะแย้งได้อย่างไรครับ 

 

Dunning-Kruger Effect

รู้น้อยแต่อวดฉลาด

Dunning-Kruger Effect หรือเรียกอีกอย่างว่า unskilled unawareness คือการที่ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร เกิดจากการที่คนๆ หนึ่งได้ศึกษาเรื่องๆ หนึ่งจนมีความรู้ในระดับหนึ่งแล้วเกิดความมั่นใจ คิดว่าตัวเองรู้ทั้งหมดแล้วในเนื้อหาตรงนั้น ทำให้มีความมั่นใจในเรื่องนั้นๆ สูงกว่าปกติ โดยที่ไม่รู้เลยว่า มีเรื่องที่เขายังไม่รู้อีกในหัวข้อนั้นๆ ซึ่งการจะทำให้รู้ว่าเราไม่รู้นั้นก็มักจะเกิดจากการเจอเหตุการณ์จริงๆ ที่ความรู้ที่มีอยู่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หรือการมีผู้เชี่ยวชาญกว่าแบ่งปันเรื่องราวที่เขาเจอมา (ซึ่งอย่างหลังก็จะเกิดได้น้อยเพราะความมั่นใจที่สูงเกินไปจาก Dunning-Kruger Effect) และนอกจาก Dunning-Kruger Effect นี้จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดแล้ว ยังทำให้เป็นเหมือนการปิดความสามารถในการรับรู้ข้อผิดพลาดของตัวเองไปในตัวด้วย ทำให้การแก้ไขปัญหาตรงนี้คือการที่เรายอมรับฟังคำวิจารณ์หรือคำแนะนำจากคนรอบข้างมาขบคิดว่าจริงไหม เพื่อสร้างความขัดแย้งในตัวเอง และได้กลับมาคิดและตระหนักว่าตรงนี้เราพลาด เราไม่ได้รู้จริงๆ เพื่อที่จะนำไปพัฒนาตัวเองต่อได้

 

Survivalship bias

มองเห็นแต่สิ่งที่รอดมา

หลายๆ คนอาจเคยได้ยินมาบ้าง เช่น คนนี้เรียนไม่จบยังได้ดีเลย หรือ มาทำอันนี้ขายดีกว่า คนนี้ขายแล้วมันได้กำไรดีเลยนะ ก็ต้องบอกว่าเราคิดว่ามันดี อาจจะเป็นเพราะสิ่งที่เราได้ยินนั้นมันมาจากแค่คนที่รอดหรือคนที่ประสบความสำเร็จไงครับ แต่ในความเป็นจริง มีคนหลายคนมากที่พยายามแล้วแต่ก็แตกพ่าย หรือไม่ประสบความสำเร็จครับ ยกอีกนิดนึงที่เคยเจอละกัน เพื่อนผมเลือกที่จะสุ่มกาชาของอีเว้นท์ในเกมหนึ่งจากคำแนะนำของเพื่อนอีกคนที่บอกว่าสุ่มทีเดียวได้ของดีเลย สรุปเสียหายไปเกือบพันบาทกว่าจะได้ของที่อยากได้ครับ (ซึ่งมันก็ทำใจไว้ก่อนแล้วล่ะ) หรือถ้าอยากได้อ้างอิงเป็นหลักแหล่งก็พอมีอยู่ ผมเคยได้ยินเรื่องของการหุ้มเกราะเครื่องบินของอเมริกาในช่วงสงครามโลก ที่เครื่องบินนั้นต้อง mass produce ทำให้การใส่เกราะเครื่องบินทั้งลำ นอกจากจะหนักแล้ว ยังทำให้ราคาเครื่องบินต่อลำและการใช้ทรัพยากรเพิ่มสูงมากจนเกินความจำเป็นด้วย ทำให้ทางกองทัพ จ้างทีมงานวิจัยของ Abraham Wald มาช่วยดูเรื่องการหุ้มเกราะเครื่องบินให้ โดยหลังจากเครื่องบินได้ออกปฏิบัติภารกิจผ่านมา ซึ่งก็มีบางลำบ้างที่ถูกยิงตกไปกลับมาไม่ถึงฐาน ก็ได้บันทึกตำแหน่งที่ถูกยิงจากรอยกระสุนที่ถูกยิงเข้ามาจากเครื่องบินที่กลับมาถึงฐาน ซึ่งทางทีมวิจัยของ Abraham Wald เลือกที่จะหุ้มเกราะในส่วนที่ถูกยิงน้อยที่สุด ซึ่งสวนทางกับการแนะนำของกองทัพที่ให้หุ้มเกราะจุดที่ถูกยิงมากที่สุด โดย Wald ได้อธิบายว่า จุดที่เครื่องบินถูกยิงไม่ใช่จุดตาย ทำให้เครื่องบินที่ถูกยิงนั้นสามารถบินกลับมาสู่ฐานได้ แต่จุดที่ไม่ได้ถูกยิงต่างหากคือจุดตายที่ถ้าถูกยิงจะทำให้เครื่องตก ครับ

 

The damaged portions of returning planes show locations where they can sustain damage and still return home; those hit in other places do not survive. (Image shows hypothetical data.) – By McGeddon at Wikimedia CC-BY-SA 4.0

 

 

Hindsight bias

รู้อะไรไม่สู้ “รู้งี้”

เกิจากเหตุการณ์หนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นแล้วเราพลาด แต่เมื่อเราค่อยนึกย้อนกลับ recall กลับไป เราสามารถบอกได้เป็น step เลยว่า ตอนนั้นมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วเราควรทำยังไงให้ผลลัพธ์มันดีขึ้น ผมว่าหลายๆ คนคงเคยเจอ โดยเฉพาะคนเล่นเกมกับเพื่อนๆ “รู้งี้” ทำอย่างนี้ หรือทำอย่างนั้นไปซะ ก็คงชนะแล้ว แต่ในความเป็นจริง ในตอนนั้น เราอาจจะยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจจริงๆ ก็ได้ หรือเราอาจจะพลาดจริงๆ ก็ได้ ก็ยอมรับกันไปว่า ยังไงมันก็กลับไปแก้ไขไม่ได้แล้ว ทำได้แต่ป้องกันไม่ให้มันกลับมาเกิดขึ้นอีกในอนาคตครับ

 

 

อ่านเพิ่มเติม/อ้างอิง