[ที่มาภาพปก: https://www.real-inspire.com/wp-content/uploads/2018/06/Active-Aging-Featured-1600x573.jpg]
ผู้สูงอายุกับแนวคิด Active Ageing
........การพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการขึ้นมาเพื่อรองรับการขยายฐานประชากรวัยเกษียณ ทำให้รัฐต้องเพิ่มภาระมหาศาล ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงาน ไม่มีบทบาทในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เป็นประชากรที่ต้องพึ่งพิงวัยแรงงาน ทำให้เกิดทัศนะเเง่ลบต่อผู้สูงอายุ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวได้มีการเผยแพร่แนวคิด Active ageing และ Productive ageing เพื่อสนับสนุนการจ้างแรงงานและขยายฐานประชากรวัยแรงงานให้กว้างขึ้นเพื่อลดการพึ่งพิงประชากรวัยแรงงาน
แนวคิดดังกล่าวเกิดจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมในยุโรป หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอุตสาหกรรมากมายขาดแคลนแรงงานวัยฉกรรจ์ และความเสียหายหลังสงครามก็ยังไม่สามารถทำให้รัฐมีงบประมาณเพียงพอรองรับรัฐสวัสดิการ และพบว่าประชากรวัย 65 ปี ยังแข็งแรงสามารถทำงานได้จึงได้จ้างงานกลุ่มประชากรเหล่านี้ต่อ นักสังคมศาสตร์เรียกผู้สูงอายุเช่นนี้ว่า Productive Ageing ไม่เพียงแค่ทำงานในระบบอุตสาหกรรมต่อเท่านั้น ยังพบว่าผู้สูงอายุจำนวนมากยังมีศักยภาพทำงานอาสาสมัครหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมเสมอ ดังนั้นจัึงมีการหนุนเสริมผู้สูงอายุเหล่านี้ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมสังคม งานอาสาสมัคร หรือการจ้างงานรูปแบบอื่นๆตามสมควร เพื่อ “ยืด” ระยะเวลาการสูงอายุขึ้นทำให้ผู้สูงอายุมีช่วงบั้นปลายที่ยังสามารถ “แสวงหาความหมายชีวิต” เพื่อบั้นปลายที่มีคุณค่า แนวคิดนี้เรียกว่า Active Ageing
อย่างไรก็ตาม Productive Ageing ได้ถูกท้าทายว่าหากนิยามจากความสามารถในการผลิต สำหรับผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ก็ไม่อาจบรรลุความเป็น Productive Aging ในความหมายนี้ได้ เห็นได้จากงานศึกษาด้านสังคมวิทยาอังกฤษของ Alan Walker and Phillip Taylor (1993) ศึกษาโครงสร้างการผลิตเป็นอุปสรรคทำให้ผู้สูงอายุไม่เป็น Productive aging ในช่วงเศรษฐกิจปกติ เพราะโรงงานมีแนวโน้มจ้างแรงงานหนุ่มสาวมากกว่า และมีนโยบายส่งเสริมให้แรงงานเกษียณอายุก่อน 65 ปี แรงงานที่เกษียณจึงเป็นคนไร้ผลิตภาพ เขาเสนอว่าอคติเรื่องอายุเช่นนี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ไม่อาจทำให้แรงงานสูงอายุเป็น productive aging ได้ เขาเสนอว่าควรขยายขอบข่ายความหมายของ productive aging ว่าหมายถึงผู้สูงอายุที่มีบทบาทช่วยเหลือครอบครัว เช่น ช่วยดูแลเด็ก ดูแลบ้านแทนลูกที่ออกไปทำงาน เป็นต้น ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องทำงานในระบบ บางคนอาจทำงานนอกระบบเพื่อหารายได้เสริม หรือทำงานอาสาสมัครเมื่อมีเวลาว่าง ดังนั้น Productive Ageing จึงเคลื่อนย้ายมาใกล้เคียงกับคำว่า Active Ageing ที่สุด
Active Ageing แปลเป็นภาษาบ้านเราว่า "พฤฒพลัง (แปลแล้วงงกว่าเดิม) ได้กลายมาเป็นเเนวทางหลักในการ “หนุนเสริม” ให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างเป็นสุขและยังคุณค่าแก่สังคม ซึ่งประเทศไทยได้ขานรับแนวคิดนี้มาจากการประชุมสมัชชาว่าด้วยผู้สูงอายุ ในปี 2525 หลังจากนั้นได้มีการสร้างแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2525-2544) โดยมีเป้าหมายเป็นการจัดการกับประชากรสูงอายุ ซึ่งกำลังเพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย เพื่อ “ส่งเสริม” การดูแลผู้สูงอายุด้านร่างกายและเยียวยาผู้สูงอายุที่ยากไร้ด้วยการสร้างสถานสงเคราะห์เพิ่มขึ้นมากมาย
การสำรวจประชากรสูงอายุโดยเฉพาะนั้น เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2537 ทำให้เห็นว่าแม้จะมีแผนผู้สูงอายุแล้วนับแต่ปี 2525 แต่ไม่มีการดำเนินการขับเคลื่อนใดๆ แม้กระทั่งริเริ่มสำรวจกลุ่มเป้าหมายซึ่งคือผู้สูงอายุ แสดงให้เห็นว่าการตื่นตัวเรื่องผู้สูงอายุจำกัดวงอยู่ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพเป็นหลัก เนื่องจากหลังประกาศใช้เเผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 1 นั้น กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแล และยังไม่มีการดำเนินงานที่ชัดเจนการเมื่อเข้าสู่ ปี 2530 จึงเริ่มมีโครงการควบคุมโรคผู้สูงอายุ เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงการเล็งเห็นว่าประชากรกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงกำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ จากนั้นวันที่ 25-26 เมษายน 2533 กรมการแพทย์ ได้จัดสัมมนาระดับชาติครั้งที่ 2 ในเรื่อง “บริการสุขภาพผู้สูงอายุ” และได้แต่งตั้ง “คณะทำงานจัดตั้งสถาบันสุขภาพผู้สูงอายุ” เพื่อหากลวิธีการบริการสุขภาพผู้สูงอายุให้ครอบคลุมทั่วถึงและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโรค โดยมีนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช อดีตรองอธิบดีกรมการแพทย์ (พ.ศ. 2522-2525) ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงการผู้สูงอายุ จากนั้นในปี 2534 ได้มีการออกบัตรประจำตัวผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และสนับสนุนให้มีชมรมผู้สูงอายุเกิดขึ้นในโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุอย่างจริงจัง
.........การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการตั้งชมรมผู้สูงอายุนั้นนับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาแนวคิด Active Ageing มาใช้ในการพัฒนาประชากร ซึ่งต่อมาแนวคิดเรื่อง Active Ageing ได้รับการพัฒนาให้เกี่ยวล้อซ่อนซ้อนอยู่ในนโยบายผู้สูงอานุหลายด้าน โดยมีเป้าหมายคือ พัฒนาให้ผู้สูงอายุเป็นผู้สูงอายุที่มีค่าแก่สังคม เพื่อให้มีกิจกรรมทำสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยเรื้อรัง เพื่อเป็นการดูแลกันและกันของกลุ่มผู้สูงอายุ ครอบครัว และชุมชน ซึ่งในการผลักดันและสนับสนุนแนวคิดนี้ทำให้เกิดงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่ค้นหาเป้าหมายและเเนวทางในการพัฒนาแนวคิดดังกล่าวนี้ ทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพ
สร้างสรรค์แต่ไม่เท่าเทียม: กับดักทวิลักษณ์ในงานศึกษากับปัญหาการพัฒนาและการจัดการสังคมสูงวัยในไทย
..............การกำหนดนโยบายมักจะมีการศึกษาวิจัยเพื่อวางแผนก่อน กระแสการศึกษางานผู้สูงอายุในช่วง 2510 – 2540 คือช่วงสำคัญในการอธิบายความเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ บทบาท หรือสถานะ “ผู้สูงอายุ” ให้กลายเป็น “ผู้เสื่อมถอย” ต้องได้รับบริการหรือ “การสงเคราะห์จากรัฐ” เป็นการตอกย้ำว่าผู้สูงอายุมีสองประเภทใหญ่ๆ คือ ทรัพยากรที่มีคุณประโยชน์ และ ทรัพยากรที่ต้องจัดการพัฒนา ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นช่วงที่กระแสงานวิจัยพัฒนาจากข้อมูลที่อธิบายด้วยสถิติไปเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อพัฒนาระบบสวัสดิการและระบบสังคมสงเคราะห์ในภาพรวมทั้งสังคม
...............งานวิจัยในยุคต่อมา เริ่มศึกษาเชิงคุณภาพเพื่อหานิยามความหมายที่ชุมชน ครอบครัวและคนรอบข้างอธิบายว่าผู้สูงอายุคืออะไร ดังนั้นสภาวะสูงอายุจึงเหมือนเป็น “บทบาทที่ถูกประกอบสร้างจากโครงสร้างชุมชน” โดยหน่วยสังคมย่อยหนึ่งๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถาบันในสังคมมีอำนาจต่างๆ กำกับความหมายของบทบาทการสูงอายุ บ้างก็เรียก “ผู้เฒ่า” บ้างก็เเรก "ผู้แก่" ของชาวโซ่งเหล่านี้อยู่
...............บทบาทเเละข้อเท็จจริงเกี่วกับผู้สูงอายุที่วัดค่าได้ในช่วงเวลานั้นคือสิ่งที่งานวิจัยค้นพบและรายงานเพื่อเป็นฐานข้อมูลตัดสินใจสำหรับนโยบายสาธารณะ เพราะมันแสดงให้เห็นตำแหน่งแห่งที่ของผู้สูงอายุที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนา ว่าจะทำอะไร กับใคร และอย่างไร เพื่อให้ตัวเลขและมาตรวัดปรับชี้ในทางเดียวกันซึ่งเป็นมาตรวัดความสำเร็จของนโยบายในอนาคต
..................รายงานสถิติและข้อมูลจากการวิจัยที่อ้างอิงได้ตามหลักเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ ทำให้นโยบายต่างๆ เด่นชัดนับตั้งแต่มีการสำรวจประชากรสูงอายุ จนถึงการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ หรือการจ่ายเบี้ยยังชีพในช่วงแรกแก่ผู้ยากไร้จนถึงแบบถ้วนหน้าในปัจจุบัน สืบเนื่องจากในสังคมสมัยใหม่เน้นการพัฒนาสังคมแบบทุนนิยมและสวัสดิการ เพราะระบบสวัสดิการจะช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับการขูดรีดของระบบทุนนิยมเสรี ทำให้องค์ความรู้สมัยใหม่ การผลิต และเงินตราในระบบตลาดเป็นอำนาจที่แข็งแกร่ง ซึ่งระบบเช่นนี้ทำให้ผู้สูงอายุซึ่งมีร่างกายเสื่อมโทรม ไม่มีบทบาทในกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม กลายเป็นผู้ไร้อำนาจและถูกมองในแง่ลบเนื่องจากต้องกลายเป็นผู้พึ่งพิง (Phillipson and Barrs,2007 อ้างใน กมลชนก ขำสุวรรณ, 2560 หน้า 133-156) ระบบสวัสดิการในช่วงแรกจึงเน้นการสงเคราะห์และช่วยเหลือ ผู้สูงอายุที่ยากไร้ ทำให้แนวคิดผู้สูงอายุเป็นผู้ไร้ประสิทธิภาพไร้ประโยชน์และนำไปสู่การเหยียดวัย ซึ่งข้อมูลเชิงสถิติ ประชากรศาสตร์ หรือสังคมสงเคราะห์จะช่วยระบุตัวบุคคลที่ต้องได้รับรัฐสวัสดิการเหล่านี้เยียวยาชีวิต
.............อย่างไรก็ตาม การยกระดับผู้สูงอายุให้สูงขึ้นกว่าผู้ไร้สภาพจากระบบการผลิตเกิดตามมาเมื่อการศึกษาวิจัยกว้างขวางขึ้นประกอบกับเริ่มมีการนำแนวคิด Active ageing มาใช้ ผ่านกิจกรรมมากมายด้วยการจัดทํา พรบ. ผู้สูงอายุแห่งชาติ พ.ศ. 2546 ที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจและสังคม เช่น กองทุนผู้สูงอายุแห่งชาติ และกองทุนกํารจัดสวัสดิการชุมชนสําหรับผู้สูงอายุ ในด้านสังคมเช่น คลังปัญญาผู้สูงอายุจังหวัด วุฒิอาสาธนาคารสมอง หรือด้านสุขภาพ เช่น แข็งแรงสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ มาเป็นแบบอย่างในการหนุนเสริมผู้สูงอายุอื่นๆ ซึ่งภาพรวมไม่เรียกว่าประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญา ผู้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ เป็นสิ่งที่วัดและประเมินได้ยาก
.............รายละเอียดของพัฒนาการความคิดที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า จากปรากฏการณ์ใหญ่ คือ การเป็นสังคมสูงวัยจะทำให้รัฐเกิดวิกฤตด้านเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ทำให้เกิดการ “สร้างผู้สูงอายุจากสถาบันทางสังคม” เพื่อนำความหมายและการมองผู้สูงอายุไปหาเหตุแห่งการ “จัดการ” ซึ่งมีการขับเคี่ยวกันระหว่าง 2 กระแสความคิดอุดมคติที่ขัดแย้งกันสุดขั้ว (Dichotomy) คือ ผู้สูงอายุที่เสื่อมถอยโรยรา และ ผู้สมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งงานวิจัยทั้งหลายทั้งมวลที่ยกมานั้นต้องการหนุนเสริม “การพัฒนา” เพื่อทำให้ผู้ที่โรยรากลายเป็นประชากรที่ยังประโยชน์แก่สังคม ซึ่งนับว่าเป็นงานวิจัยที่ยึดมั่นในปรัชญาแบบทวิลักษณ์นิยมซึ่งใช้เหตุผลแบบวิทยาศาสตร์และการเเพทย์ ที่มองว่าทุกสิ่งมีความต่างสองขั้วเกิดคู่กันเสมอ (Bourdieu,1984) การกลายเป็นผู้สูงอายุจึงเป็นทั้งแง่บวกและเเง่ลบ กล่าวคือ เพราะสภาพร่างกายเสื่อมถอยโรยรา จึงต้องมีวิธีการเปลี่ยนผู้เสื่อมถอยโรยราเหล่านี้ ให้ใกล้เคียงกับผู้สมบูรณ์แข็งแรงที่สุด นี่จึงเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การ “พัฒนา” หรือ “จัดการ” กับเรือนร่างผู้สูงอายุ
ปัญหาของการพัฒนาผู้สูงอายุตามวิธีคิดข้างต้น คล้ายคลึงกับกระแสการพัฒนาในแนววัฒนธรรมชุมชน ที่เกิดจาอุดมการณ์ด้านหนึ่งคือ การพัฒนาแบบทุนนิยมคือด้านลบ อีกด้านคือ ชุมชนชนบทมีวัฒนธรรมที่ดีเพียงพอและพอเพียงแล้วที่จะต้านระบบทุนได้ ซึ่งกลไกนี้คือการสร้างอุดมคติการพัฒนาที่ขัดแย้งกันสุดขั้ว หรือภาวะ Dichotomy ซึ่งนำไปสู่การนำระบบชุมชนวัฒนธรรม “ที่ดี” ไปเป็นแบบอย่างหรือพื้นฐานในการพัฒนา
เช่นเดียวกับอุดมคติของ “ผู้สูงอายุพฤฒพลัง” หรือ Active Ageing หากพิจารณาบรรดางานวิจัยที่ผู้ศึกษาได้ยกมาข้างต้นจะเห็นว่า การสร้างความรู้เกี่ยวกับผู้สูงอายุในบรรดางานเหล่านั้น คือการสร้าง “ผู้สูงอายุที่ดี” ตามนิยามของพฤฒพลัง ซึ่งยืนยันข้อเท็จจริงด้วยตัวเลขเชิงสถิติ และโครงสร้างการอธิบายที่เเข็งทื่อ ทำให้เกิดภาพอุดมคติตรงข้ามสุดขั้วว่า ระบบทุนนิยมทำให้ผู้สูงอายุถูกลดบทบาทไปเป็นคนชายขอบ ทุนนิยมจึงแย่เพราะเข้าไปบ่อนทำลายสถานะของผู้สูงอายุจนราพนาสูร นักพัฒนาของรัฐหรือนักพัฒนาเอกชนจึงมีความชอบธรรมที่จะสร้างระเบียบของสถานะผู้สูงอายุขึ้นมาใหม่ ซึ่งเขาเชื่อว่าในระนาบชุมชนวัฒนธรรมแล้วผู้สูงอายุมีบทบาทและคุณค่าสูงจากครอบครัวขยายหรือบทบาทการเป็นผู้ทรงภูมิปัญญา ระบบชุมชนเช่นนี้จึงดี ระบบชุมชนเช่นนี้ชอบธรรมนี่คืออุดมคติที่ต้องไปถึง จุดนี้เป็นฐานให้วิธีคิดว่าด้วยผู้ที่เสื่อมถอยโรยราสามารถสร้างประโยชน์อื่นๆ แก่สังคมได้ ดังนั้นควรสนับสนุนให้มีพื้นที่สำหรับพวกเขาเหล่านี้
............อย่างไรก็ตามข้อเขียนนี้ไม่ได้ปฏิเสธว่าการพัฒนาให้ผู้เสื่อมถอยโรยรากลายเป็นผู้ยังประโยชน์แก่สังคมนั้นเป็นสิ่งที่ดี หรือไม่ดี หรือเลวร้าย หากแต่กำลังสำรวจว่าแนวคิดพื้นฐานดังกล่าวอาจใช้ไม่ได้กับทุกชุมชนวัฒนธรรม และอาจเกิดปัญหาเรื่องอคติแทนที่อุดมคติได้ เพราะในชุมชนและวัฒนธรรมประกอบด้วยผู้สูงอายุที่ “ต่างคนต่างใจ” ซึ่งมีเงื่อนไขในชีวิตต่างกัน เเละระบบทุนนิยมกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างชุมชนแล้ว การปฏิเสธหรือมองทุนนิยมในชุมชนในแง่ที่ลดทอนสถานะของผู้สูงอายุให้เป็นชายขอบจึงเป็นปัญหา เนื่องจากผู้สูงอายุอาจช่วงชิงระบบทุนเพื่อสร้างสถานะตนใหม่ย่อมได้ วิธีคิดฐานทวิลักษณ์เช่นนี้ทำให้ไม่มีการวิเคราะห์ระบบชุมชนอย่างละเอียดลึกซึ้ง เพราะอาศัยโครงสร้างทางสภาพร่างกาย โครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างการศึกษา หรือเครือญาติเป็นมาตรชี้วัดแต่ละเลย “ทางเลือกอื่นๆ” หรืออำนาจอื่นๆ ที่ลึกซึ้งและกว้างขวางกว่านั้น จึงจำเป็นต้องฝ่ากับดักดังกล่าวเสีย
........จากที่กล่าว จะเห็นว่าการศึกษาเพื่อกำหนดนโยบายมีความจำเป็นที่จะต้องฝ่าออกจากกับดักของทวิลักษณ์นิยม ที่กำหนดว่า ผู้สูงอายุเป็น "สิ่ง" ด้อยสภาพที่ต้อง "พัฒนา" เพราะการกำหนดแบบทวิลักษณ์นี้จะนำไปสู่ "การเหยียดวัย" หรือ Ageism เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่ายิ่งภาครัฐ เอกชน และประชาชนเล็งเห็นว่าผู้สูงอายุมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบสวัสดิการ และระบบสังคมมากขึ้นเพียงไร ยิ่งผลิตซ้ำความอ่อนแอเชิงประจักษ์ของร่างกายและอายุมากขึ้นเท่านั้น การที่สถาบันต่างๆกำหนดความหมายและตำแหน่งแห่งที่ของผู้สูงอายุไม่เพียงแค่ย้ำภาพเชิงลบเท่านั้นหากแต่ยังสาปภาพลบนั้นให้ดำรงอยู่อย่างเป็นสากลอีกด้วย (สโรชพันธุ์ สุภาวรรณ และชไมพร กาญจนกิจสกุล, 2557) แม้กระทั่งการนำแนวคิด “พฤฒพลัง” มาเผยแพร่ในสังคมเพื่อยกระดับให้ผู้สูงอายุยังคุณค่าแก่สังคมเพื่อลดอคติของช่วงวัย อาจจะยิ่งหนุนให้เกิดการแบ่งแยกผู้สูงอายุที่ถูกตีความว่า “ไม่เข้าข่าย” พฤฒพลัง (คำที่คนไทยนิยมพูดแก่ผู้สูงอายุว่า “แก่ไม่เจียมสังขาร” กรณีเช่น ผู้สูงอายุบางรายยังคงอยากเที่ยวกลางคืน อยากแต่งงานใหม่ อยากดื่มเหล้าสังสรรค์ หรือนิยมเล่นการพนัน เป็นต้น) ทำให้เกิดการแบ่งซ้ำซ้อนอีกว่าผู้สูงอายุประเภทนี้มีค่า ไม่มีค่า สิ่งนี้คือปัญหาของกับดักการเเบ่งขั้วแบบทวิลักษณ์
กล่าวโดยสรุป คือ พัฒนาการศึกษาวิจัยด้านผู้สูงอายุที่ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนด้วยแนวคิด Active ageing ยืนบนหลักวิทยาศาสตร์ที่ใช้ตัวเลขไม่ต่างจากการพัฒนาอื่นๆ ในอดีต และยังมี “โครงสร้างทางสังคม” เป็นตัวอธิบายถึงสถานภาพและบทบาทของผู้สูงอายุในพนาดรของความจริงและปัญหาที่ต้อง “จัดการ” โดยมีตัวแบบที่สร้างจากความขัดแย้งสุดขั้วของคู่ตรงข้าม (Dichotomy)
..
..
ผมเห็นว่าแม้งานศึกษาเรื่องการสูงอายุทั้งหมดจะมีคุณูปการณ์ต่อการกำหนดนโยบายหรือแนวทางเชิงปฏิบัติที่เป็นบวกต่อผู้สูงอายุจำนวนมาก ล้วนพยายามลดทอนภาวะเหยียดวัย (Ageism) และเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตแก่ประชาชน
แต่ในเชิงความเข้าใจภาวะของสังคมสูงวัยในโลกปัจจุบันที่ผันผวนไม่หยุดนิ่ง จึงจำเป็นต้องทะลุเส้นกรอบโครงสร้างที่กำหนดบทบาทแบบแผนของชุมชนไปเสีย เนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างของชุมชนพร่าเลือน และความจริงถูกสร้าง เช่นเดียวกับผู้สูงอายุย่อมเป็นความจริงที่ถูกสร้างเฉกเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างสังคมรูปแบบใหม่ๆ ต่อไป