explicitClick to confirm you are 18+

แครอล ดนตรี และเพลงสวด: รูปรอยทางวัฒนธรรมของชาวแองโกล-แซกซอน ในเทศกาลคริสตสมภพ

IdealistNov 28, 2020, 6:32:09 AM
thumb_up28thumb_downmore_vert

คริสต์มาสตรงกับวันแห่งการเฉลิมฉลองของชาวยุโรปส่วนใหญ่ ทำให้คำสอนเรื่องข้อปฏิบัติที่คงเส้นคงวาในวันคริสต์มาส เช่น การถือศีลอด ภาวนาอย่างยาวนาน ถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความบันเทิงและรื่นเริง เพราะนอกเหนือจากพิธีกรรมทางศาสนาที่กระทำในตอนเที่ยงคืนของวันคริสต์มาสอีฟ (การเฉลิมฉลองจะเกิดขึ้นวันที่ 24 ธันวาคม ในเวลากลางคืน เพราะการนับช่วงเวลาแบบยิวถือเอาตอนหกโมงเย็นเป็นการเริ่มวันใหม่  ตอนหกโมงเย็นของวันที่ 24 จึงเป็นวันที่ 25 เช่นนั้นหากกระทำพิธี หรือเฉลิมฉลองกันในคืนวันที่ 25 ธันวาคม เท่ากับว่าตอนเที่ยงคืนเป็นวันที่ 26 ธันวาคมแล้ว)

ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ซึ่งทำขึ้นประกอบกับเทศกาลเตรียมรับเสด็จ (Advent) ตลอดทั้ง 4 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 6 มกราคม และมีการการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมตามความนิยมหลังจากที่คริสต์มาสถูกจัดอย่างเปิดเผยและแพร่หลายในยุโรปและทั่วโลก นับแต่ยุคกลางเป็นต้นมาถึงปัจจุบัน อย่างที่กล่าวไว้ว่า “เทศกาลเตรียมรับเสด็จ” คือการเตรียมตัวเตรียมใจของชาวคริสต์ใน 3 กรณีด้วยกัน คือ 1.การรอคอยการกลับมาของพระเยซูในวันพิพากษาโลก 2. การรำลึกถึงพระผู้ไถ่ที่มาบังเกิดเป็นเหตุการณ์ในอดีต และ 3. การระลึกถึงพระผู้ไถ่อยู่เสมอเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันตายของตนเอง เพราะมนุษย์ไม่รู้ว่าตนจะตายเมื่อใด การระลึกถึงพระผู้ไถ่อยู่เสมอทำให้พ้นทุกข์ กิจกรรมทางศาสนาจึงมักเป็นเรื่องทางจิตใจเพียงเท่านี้ ทว่า “การเตรียมกายใจ” ในแต่ละแห่งแหล่งที่กับปฏิบัติไม่เหมือนกันและต่างกันออกไป เช่น ในเยอรมันนีจะมีการนำพวงมาลัยดอกไม้เป็นวงกลม และจุดเทียนหนึ่งเล่ม ครอบครัวชาวเยอรมันจะล้อมวงและสวดภาวนากันในค่ำคืนช่วง 4 สัปดาห์แห่งเทศกาลเตรียมรับเสด็จ (Collin,2003)

บางทัศนะยังมองว่า การที่คริสต์ศาสนานำเอาวันที่ 25 ธันวาคม มาเป็นวันฉลองพระคริสตสมภพยังเป็นการลดทอนคุณค่าของพิธีกรรมการบูชาเทพเจ้าของลัทธิเพเกินในยุโรป โดยการนำเอาธรรมเนียมการฉลองแบบยิ่งใหญ่ อบอุ่น รื่นเริง และมึนเมา มาผสมผสานกับการฉลองในวันคริสต์มาสอย่างกลมกลืน และแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อโดยส่วนใหญ่มักประกอบด้วยเครื่องเซ่นสรวงบูชา การบูชายัณ การสวดภาวนา การเต้นรำ และร้องเพลง เช่นเดียวกับการเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสที่มีพัฒนาการโดยการเพิ่มเติมรายละเอียดทางวัฒนธรรมอื่นๆ ลงไป ได้แก่ ดนตรีและเพลงสวด การประดับตกแต่งด้วย ต้นคริสมาสต์ ไฟ ดอกไม้ หรือดาว แม้กระทั่งเรื่องราวของซานตาคลอสที่ผสมเข้ามาผ่านช่วงเวลาอันยาวนาน

จูดิธ และ มาร์ติน มิลเลอร์ เขียนถึงวันคริสต์มาสในแบบดั้งเดิมไว้เหมือนบันทึก บางช่วงบางตอนกล่าวถึงประวัติของคริสต์มาสว่าดั้งเดิมเคคยเป็นการฉลองของพวกนอกศาสนา (Paganism) โดยเฉพาะในเกาะอังกฤษนำโดยพวกแองโกลแซกซอน

 คือ ช่วงระหว่างวันที่ 21 ธันวาคม ถึง 1 มกราคมเป็นช่วงเวลาของความรื่นเริงมานานมากแล้ว เช่น ชาวไวกิ้งมีงานฉลองที่ชื่อว่า Juul ซึ่งถวายแก่โอดินเทพเจ้าของพวกเขา หรือเทศกาลโรมัน คือ เซเทิร์นนาเลีย ถวายแก่เทพแห่งการเกษตรกรรมของพวกเขา เพื่อให้แน่ใจว่าฤดูหนาวจะสิ้นสุดและดวงอาทิตย์ที่หลับใหลจะกลับมา มันจึงเป็นช่วงเวลาของการทำบุญสุนทาน คนรวยจะมอบเสื้อผ้าให้คนจน ซึ่งคนจนจะมอบพวงมาลัย เทียน เครื่องหอม และสิ่งประดับเป็นการตอบแทน

วันปีใหม่ คือ ในวันที่ 5 มกราคม คนนอกศาสนาชาวอังกฤษเรียกว่าช่วง Wassailing Time หมายถึงความแข็งแรง สุขภาพดี ปราศจากวิญญาณร้าย ซึ่งเป็นเทศกาลที่กลุ่มคนหนุ่มสาวรวมตัวกันร้องรำทำเพลง ตีฉิ่งฉาบให้วิญญาณเกรงกลัว ซึ่งเป็นที่มาของการร้องเพลงหมู่ตอนคริสต์มาส (แครอลในศตวรรษที่ 16 ที่ฟื้นฟูในยุควิคตอเรีย) เมื่อเสร็จแล้วก็จะทำการดื่มเหล้าเอล และในการสนับสนุนของนักบุญออกัสติน สิ่งเหล่านี้จึงค่อยๆกลายเป็นเทศกาลของชาวคริสต์ และธรรมเนียมเก่าแก่ของพวกนอกศาสนาก็ถูกนำมารวมเข้าด้วยกัน แม้ว่าในบางครั้งจะมีความขัดแย้งกลุ่มผู้นำทางศาสนา โดยมุ่งเน้นอธิบายว่าทางเดียวที่จะเน้นวันอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อระลึกถึงการเกิดของพระเยซู ก็คือต้องอดอาหารมากกว่าจะเป็นการเฉลิมฉลอง ในช่วงศตวรรษที่ศตวรรษที่ 17 (การปกครองของโอลิเวอร์ ครอมเวลในอังกฤษ ถูกฟื้นฟูอีกครั้งหลังจากเขาหมดอำนาจ พร้อมๆกับการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาใหม่) และการสร้างประเพณีใหม่ๆ อย่างมากมายในยุควิคตอเรีย ศตวรรษที่ 19

ในช่วงเวลาของเทศกาลเตรียมรับเสด็จ จะมีการสวดภาวนา ถือศีล และการปฏิบัติตนตามคำสอนของแต่ละคริสต์จักรในรายละเอียดของแต่ละท้องที่ ในแต่ละบ้าน หรือแต่ละชุมชน โดยเฉพาะในช่วงของพิธีกรรมจะมีการขับร้องเพลงสวดสรรเสริญเป็นปกติ ในโอกาสเทศกาลเตรียมรับเสด็จจึงมีการประพันธ์เพลงขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อใช้การเช่นกัน (เพลงสาธุการ,2558) 

         บทเพลงที่ใช้บอกเล่าเรื่องราวและสรรเสริญพระเจ้านั้น อาจเทียบได้กับเพลงนมัสการที่เป็นการนำเอาถ้อยคำที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับคริสต์ศาสนา หรือเรื่องราวในคริสตธรรมคัมภีร์ มาเรียงร้อยกับจังหวะดนตรี แล้วนำไปใช้ในพิธีกรรมเพื่อให้ผู้คนได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อจากเพลงที่ร้องร่วมกัน บทเพลงไม่ได้สร้างเพียงความบันเทิงเริงใจเท่านั้นแต่ยังเป็นการอธิษฐานของผู้ขับร้อง และเป็นการประกาศข่าวประเสริฐของพระเยซูอย่างมีประสิทธิภาพ

         อย่างไรก็ดีแม้ว่าเพลงนมัสการในบริบทสังคมอเมริกาในศตวรรษที่ 18 มีความหมายของการร้องเพลงเพื่อพิธีกรรมก็ไม่ได้ถือว่าผิดแผกไปมากนัก เพราะบทเพลงแรกอันเนื่องมาจากวันคริสต์มาสประพันธ์ขึ้นในศตวรรษที่ 4 หรือหลังจากที่มีการเฉลิมฉลองพระคริสต์อย่างเปิดเผย เพลงก็ประพันธ์โดยฆราวาสโดยเป็นเพลงสวดภาษาละตินมีเนื้อหาเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของพระคัมภีร์ การบังเกิดของพระคริสต์ เพื่อสรรเสริญความสง่าผ่าเผยต่อเหตุการณ์ การขับร้องเพื่อเล่าเรื่องราวยังคงมีขึ้นเรื่อยๆ และแพร่ขยายไปยังอารามในยุโรปจนถึงช่วงคริศต์ศตวรรษที่ 9-10 

จนกระทั่งถึงปลายยุคกลาง หรือต้นยุคเรอเนสซองค์ (ราว คริสต์ศตวรรษที่ 12-13) นักบุญฟรังซิส แห่งอัสสิสี ได้เริ่มประพันธ์เป็นภาษาท้องถิ่น ในภาษาถิ่นของอังกฤษก็เริ่มมีเพลงสวดวันคริสต์มาส คือ เพลง O Come All Ye Faithful (ในภาษาละติน คือ ADESTE FIDELES ซึ่งแปลเมื่อ ปี ค.ศ. 1841 และนิยมแพร่หลายในพิธีกรรมในโบสถ์ในภาษาอังกฤษมากที่สุด) หรือในภาษาไทย คือ “ขอเชิญท่านผู้วางใจ” (ซึ่งใช้ร้องในพิธีกรรมในวันที่ 25 ธันวาคม 2559 ณ บ้านหนองคูน้อยในพิธีมิสซาเช่นเดียวกัน)

         โดยสาเหตุที่คริสต์มาส (ในส่วนเทศกาลเฉลิมฉลอง) มาจากเทศกาลของคนนอกศาสนา มันจึงสืบทอดประเพณีของดนตรีและการเต้นรำเพื่อเฉลิมฉลองมาด้วย หนึ่งในนั้น ก็คือเพลงแบบ แครอล (Carol) ซึ่งหมายถึงการร้องเพลงเต้นรำเป็นวงกลม โดยใช้ท้องเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลเป็นท้องเรื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ในยุคกลางไม่เห็นด้วยกับความไม่เป็นสาระของแครอล จึงต้องให้มายืนร้องรวมกันหน้าโบสถ์หลังพิธีตามเทศกาล ซึ่งได้รับการอนุญาตให้ร้องในโบสถ์ในศตวรรษที่ 16 และคำร้องแบบปากต่อปากก็ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในยุคนี้ (ต้นคำ ไชยสมหมาย, 2521 แปลจาก มิลเลอร์, มปก :107-108)

         นอกจากนี้เมื่อการเฉลิมฉลองเทศกาลนี้แพร่หลายก็มีการบันทึกเนื้อร้องและเผยแพร่เป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์เฟื่องฟู เพลงเทศกาลจึงถูกแต่งขึ้นร้องเพื่อความรื่นเริง สนุกสนาน เช่น Deck the hall หรือ Jingle Bell ของอเมริกา ที่ย้อนไปถึง ปี ค.ศ. 1784 จนอาจกล่าวได้ว่าวิวัฒนาการของการขับร้องบทสวดแบบละตินโบราณ มาจนถึงการร้องเพลงแบบแคโรลและการประสานเสียงในโบสถ์ มาสู่การร้องเพลงที่รื่นเริงสนุกสนาน และยังมีการบันทึกเทปเผยแพร่อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เกิดจากจุดเปลี่ยนหลายประการ คือ ในเชิงความหมายหรือการแสดงออกของบทเพลง และในเชิงปริมาณการแพร่กระจายหรือความนิยมต่อตัวบทเพลงและดนตรี (รูปรอยทางวัฒนธรรม)

         กล่าวโดยสรุปคือ ประการแรกในเชิงความหมายและการแสดงออก เพลงและดนตรีในพิธีกรรมมีมาก่อนในศาสนาโบราณจนส่งผลในวัฒนธรรมแองโกล – แซกซอน และวัฒนธรรมเพเกินอื่นๆ ในยุโรป ในศตวรรษที่ 4 เมื่อประเพณีคริสต์มาสเริ่มกระทำกันอย่างเปิดเผย ก็มีการแต่งบทสวดเป็นทำนองมาก่อน ดังนั้นเมื่อคริสต์ศาสนาต้องการสร้างคำอธิบายต่อธรรมเนียมของชาวเพเกิน จึงใช้การปรับธรรมเนียมเพลงท้องถิ่นมาใช้ในโบสถ์ โดยแต่งเนื้อร้องให้สัมพันธ์กับเหตุการณ์ในพระคัมภีร์ เช่น การร้องเพลงและเต้นรำเป็นวงกลมแบบแคโรลของอังกฤษสู่การร้องประสานเสียงในโบสถ์

         ต่อมาเมื่อมีการบันทึกเนื้อร้องจากปากต่อปาก จากพ่อแม่สู่ลูก ลงสู่กระดาษเพื่อเผยแพร่ การเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณความนิยมก็แพร่หลายและยาวนานขึ้น โดยเฉพาะในสมัยวิกตอเรีย ปี 1850 สาธุคุณ เจ เอ็ม นีล. เอาชุดเพลงแครอลของชาวสวีเดน ในศตวรรษที่ 16 มาแปลเป็นภาษาอังกฤษ และพิมพ์ลงบนแผ่นดนตรี จึงเริ่มแพร่หลายแก่ชาววิกตอเรีย ในช่วงนี้แครอลไม่เพียงแต่กลับไปเป็นการร้องในโบสถ์เท่านั้น ยังมีการร้องเพลงไปตามท้องถนนด้วยเสียงสูงในคืนคริสต์มาสอีฟ พร้อมด้วยการตีฉิ่งฉาบ เหมือนกับธรรมเนียม Wassailing Time ซึ่งเป็นเทศกาลที่กลุ่มคนหนุ่มสาวชาวอังกฤษรวมตัวกันร้องรำทำเพลง ตีฉิ่งฉาบให้วิญญาณเกรงกลัว นักร้องเหล่านี้จะได้รับการเชิญเข้าไปในบ้านเพื่อดื่มน้ำพันช์หรืออาหาร

         ประการต่อมาในเชิงปริมาณและความนิยมต่อบทเพลงและดนตรี ในช่วงที่การสื่อสารแบบมวลชน (ตั้งแต่ ค.ศ. 1920 เป็นต้นมา และเบ่งบานที่สุดในยุคสงคราม เย็น 1945 – ปัจจุบันโดยภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด) หรือยุคที่เกิดแผ่นเสียง และการอัดเทปบันทึก และรายการโทรทัศน์ที่เข้ามามีบทบาทต่อค่ำคืนวันคริสต์มาสอีฟ ความนิยมไม่ได้พร่าเลือนไปหากแต่มีการผลิตซ้ำอย่างเข้มแข็งโดยเฉพาะในฝั่งอเมริกาที่บทเพลงอย่าง Deck the hall หรือ Jingle Bell ที่ย้อนไปถึง ปี ค.ศ. 1784 ถูกใช้ประกอบการโฆษณาในรายการโทรทัศน์ และวิทยุออกอากาศ จนทำให้ดนตรีเหล่านี้เป็นสิ่งที่ติดหูคนทั่วโลกตามกระแสบริโภคนิยมที่เกิดจากอำนาจของการสื่อสารมวลชนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในยุคที่วัฒนธรรมอเมริกาแพร่ขยายไปทั่วโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น ดารา นักแสดง บทเพลง ตลอดจนภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ประเพณีคริสต์มาสถูกทำเป็นภาพยนตร์ซึ่งประกอบไปด้วยบทเพลงและภาพเคลื่อนไหวที่ทำหน้าที่สื่อสารกับผู้คนได้มากกว่าเดิม และแพร่ขยายได้ง่ายกว่าเดิมตามการลงทุนที่ทั่วถึง

         การนำเทศกาลคริสต์มาส บทเพลง และละครในเรื่องเล่าต่างๆ มาใส่ในภาพยนตร์ เกิดขึ้นมายาวนานแล้ว นับตั้งแต่ในยุควิกตอเรีย ที่นอกเหนือจากเหล่า “วาสแซลิง” หรือนักร้องเพลงตามท้องถนน ยังมีการละเล่นละครใบ้ที่มีรากฐานมาจาก Commedia dell’arte ซึ่งครอบครัวต่างๆ จะไปโรงละครเพื่อชม เนื้อหาจะประกอบด้วยเนื้อเรื่องและทำนองที่เป็นที่นิยมคละกันไป ภาพยนตร์เรื่องแรกๆ (Scrooge, or, Marley's Ghost ในปี 1901) เป็นเรื่องที่ได้รับอิทธิพลจากนวนิยายเรื่อง A Christmas Carol ของชาร์ลส์ ดิ้คเก้นส์ ที่เขียนขึ้นเมื่อ ปี 1843 และมีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการดัดแปลงบท หรือแต่งเรื่องอื่นๆ ขึ้นมา โดยใช้ฉากหลังเป็นเทศกาลคริสต์มาส โดยเฉพาะในยุคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของอเมริกาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการผลิตของบริษัทวอลส์ ดิสนี่ย์ ที่มุ่งเน้นการนำเสนอบทเพลงแบบ Carol (การร้องประสานเสียงทั้งมีดนตรี และไม่มีดนตรี) ประกอบท้องเรื่องอยู่โดยตลอด

         ปฏิกิริยาการนำคำสอน และการปฏิบัติในทางศาสนามาใส่ในภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิทยุ เช่นนี้ขานรับกับนโยบายการเผยแพร่ศาสนาของศาสนจักรหลังการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ที่เริ่มมีนโยบายการใช้เทคโนโลยีต่างๆ และการสนับสนุนสื่อมวลชนที่มีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นตัวช่วยแพร่กระจายพระวรสาร อันทำให้วัฒนธรรมชาวคริสต์ไปทั่วทุกมุมโลก (ภูมิ ภูติมหาตมะ, 2555:126) ความหมายของบทเพลงที่ใช้เนื้อร้องตามพระคัมภีร์ ไม่ใช่แค่ดนตรีในโบสถ์ หรือการร้องประสานเสียงจึงไม่ได้มีแค่มิติทางด้านการเฉลิมฉลองทางศาสนา หากแต่เป็นสิ่งประกอบช่วงเทศกาลแห่งความยินดีสู่ความเป็นสากลที่คนทุกศาสนาจดจำได้ติดหู เทศกาลคริสต์มาสโดยองค์ประกอบนี้จึงไม่ใช่ความชอบธรรมของวัฒนธรรมคริสต์เท่านั้น แต่เป็นวัฒนธรรมสากลซึ่งสื่อทำหน้าที่แพร่กระจายข้อมูลออกไป ปริมาณของการผลิตแบบอุตสากรรมเสียง ภาพยนตร์ และการสื่อสารมวลชนสร้างอำนาจในการกำหนดความหมายของเทศกาลใหม่ให้เป็นสากลด้วยประการนี้

         กล่าวโดยสรุป คือ เพลงและดนตรีเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ใช้ในพิธีกรรมในอดีตที่มีมานานในพิธีกรรมโบราณมาเนิ่นนานจนสืบทอดเป็นธรรมเนียม เช่น การเต้นรำเป็นวงกลมของชาวพื้นเมืองอังกฤษในช่วง Wassailing Time ของการเฉลิมฉลองในฤดูหนาว จนกระทั่งเมื่อวัฒนธรรมแบบคริสต์ต้องการลดทอนคุณค่าเดิมจึงได้กำหนดแบบแผนเพื่อปรับเปลี่ยนสิ่งที่ธรรมเนียมในวัฒนธรรมท้องถิ่นมีอยู่ก่อนให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องภายใต้ความหมายของพระคัมภีร์ 

การเต้นรำและร้องเพลงเป็นวงกลมจึงเปลี่ยนเป็นการร้องเพลงในโบสถ์เพื่อสรรเสริญพระเจ้า จากเพลงสวดในโบสถ์ (ในศตวรรษที่ 4) ก็ปรับด้วยการเปลี่ยนบทเพลงป็นเนื้อหาที่ชาวบ้านเข้าใจได้ง่ายขึ้นจนแพร่หลาย และได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร กระบวนการนี้เกิดในศตวรรษที่ 14 - 17 และเมื่อมีการฟื้นฟูวัฒนธรรมในยุควิคตอเรียในศตวรรษที่ 19 ความแพร่หลายของมันก็เกิดขึ้นจากการตีพิมพ์เผยแพร่ และเริ่มต้นบันทึกลงเครื่องเสียง จนกระทั่งเมื่อมีระบบการสื่อสารมวลชนขนาดใหญ่ (ในศตวรรษที่ 20) วัฒนธรรมทางเสียงเพลงแคโรล เรื่องเล่า ละคร และดนตรีในเทศกาลนี้ก็เปลี่ยนตัวเองไปสู่โลกของภาพยนตร์และสื่อสารมวลชนแบบต่างๆ (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) เพื่อเผยแพร่ไปจนกลายเป็นวัฒนธรรมสากลที่คนทั่วโลกติดหูติดตา