explicitClick to confirm you are 18+

ช่อดอกไม้ ท่อนซุง เตาผิง และเทพสีเขียว: การเฉลิมฉลองกลางฤดูหนาวของชาวพื้นเมืองไวกิ้งสู่การความหมายใหม่ในวันเกิดพระเยซู

IdealistNov 28, 2020, 5:01:30 AM
thumb_up23thumb_downmore_vert

ประเพณี เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงเสมอตลอดประวัติศาสตร์ คริสต์มาสก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างนั้นมาสองพันปีโดยไม่สอดรับกับวัฒนธรรมพื้นเมือง แน่นอนว่าหากมองย้อนไปในอดีตไกลโพ้น คริสต์มาสคือความเชื่อใหม่ เป็น “สิ่งใหม่” ที่ชาวพื้นเมืองยุโรปเดิมต้องปรับเอาธรรมเนียมหลายอย่างของตนให้เป็นธรรมเนียมคริสต์ ซึ่งการเฉลิมฉลองเป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายการผสมกลมกลืนนั้น

ผมอยากจะยกเรื่องการ “ตกแต่ง” ประกอบเทศกาล เพราะการตกแต่งมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ และสัญลักษณ์คือ “ร่างทรง” ทางวัฒนธรรมที่ประจุความเข้าใจร่วมกันของผู้คนมหาศาลที่บันดาลเป็นคำพูดได้ไม่หมด

การประดับตกแต่งยังทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ที่บอกเล่าความหมายของพิธีกรรมการประดับตกแต่งสิ่งต่างๆ จึงมีรายละเอียดเพื่ออธิบายความหมายของตัวพิธีกรรม สำหรับในงานคริสต์มาสก็เช่น การประดับตกแต่งด้วยดาว ต้นสน สีแดง สีเขียว และอื่นๆ แล้วแต่พื้นที่

การประดับประดาบ้านเรือนและอาคารสถานที่ในเทศกาลคริสต์มาสปรากฏว่ามีมายาวนานเป็นการผสมผสานเพื่อกลืนกลายวัฒนธรรมการฉลองในฤดูหนาวหรือเหมายันของชนพื้นเมืองในยุโรป เพราะสัญลักษณ์ที่ปรากฏนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ทางคริสต์ศาสนา เช่น สีแดง อันแทนการหลั่งเลือดไถ่บาปของพระคริสต์ หรือดาวอันเป็นสัญลักณ์แทนองค์ของพระเยซู เป็นต้นแล้ว การประดับประดายังคงไว้ซึ่งแสงสว่างและความอบอุ่นในครัวเรือน ที่เริ่มต้นจากในครอบครัวเป็นหลัก

ยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 1-9 ชาวไวกิ้งมีบทบาทอย่างมากในการเดินทาง ยึดครองดินแดนและเผยแพร่วัฒนธรรมของตนไปยังดินแดนต่างๆในยุโป การเฉลิมฉลองในฤดูหนาวของชาวนอร์สแมนไวกิ้ง (Winter Solstice) มีการประดับตกแต่งบ้านด้วยใบไม้สีเขียว การนำใบไม้สีเขียวมาไว้ในบ้านนี้เองถือว่าเป็นการนำเทพเจ้ายูล Yule หรือเทพเจ้าแห่งป่ามาหลบซ่อนพายุและความหนาวเหน็บในบ้าน 

สอดคล้องกับอิทธิพลของชาวโรมันซึ่งครอบครองพื้นที่ดั้งเดิมส่วนใหญ่ในยุโป ที่มีเทศกาลบูชาสุริยเทพของโรมัน (แซเทิร์นนาเลีย) ประดับด้วยใบฮอลลี่ช่วงปีใหม่เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตใหม่ 

ดังนั้นในยุคต้นของคริสต์มาสจะมีการนำธรรมเนียมดั้งเดิมของทั้งพวกไวกิ้งและโรมัน คือ การช่อดอกไม้ไว้ที่จุดศูนย์กลางของบ้านหรือเตาผิง ทำมาจากวงไม้หรือวงโลหะ ตกแต่งด้วยใบไม้สีเขียว เช่น ใบมิสเซิลโทว์ หรือการลากท่อนไม้ ท่อนซุงตัวแทนของเทพยูลเข้ามาให้ความอบอุ่นในครัวเรือน หากเป็นในแถบสก็อตแลนด์ ชาวไวกิ้งที่นั่นเผาเรือมังกรเพื่อบูชาเทพยูลด้วยเลือดเเละไฟกันเลยทีเดียว พวกนี้คือ ธรรมเนียมของพวกนอกรีตหรือเพเกิ้นท(Pegan) ที่กำลังคลี่คลายความหมายไปทางพระคริสต์มากขึ้น

จนในยุควิกตอเรียน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นยุคของการ “ประดิษฐ์” ประเพณี ค่านิยม และศีลธรรมหลายอย่างที่ส่งผลถึงปัจจุบัน ก็มีการนำธรรมเนียมประดับตกแต่งแบบมาใช้ซึ่งปรากฏในงานเขียนชิ้นหนึ่ง โดย ชาร์ลส์ ดิคเค่นส์ ในหนังสือ The pickwick papers (1837) ว่า

         “จากจุดกึ่งกลางของเพดานครัวแห่งนี้ วาร์เดิลผู้ชราเพิ่งจะแขวนมิสเซิลโทว์กิ่งใหญ่ด้วยมือของตัวเอง และมิสเซิลโทว์กิ่งเดียวกันนี้ทำให้เกิดการต่อสู้และความสับสนที่เป็นธรรมดาและน่ายินดีที่สุด มิสเตอร์พิควิคผู้สง่างามอันเป็นเกียรติแก่ลูกหลานของเลดี้ ทรอลิมกรอเวอร์ จับมือหญิงชรา นำเธอไปยังกิ่งไม้ลึกลับนั่น และแสดงความเคารพเธอด้วยความนอบน้อมและมีมารยาท”

         จะเห็นได้ว่า ชาววิกตอเรียตกแต่งบ้านด้วยใบไม้สีเขียวอยู่ หลังจากรากการตกแต่งความเชื่อในพิธีกรรมในฤดูหนาวอันยาวนานในยุโรป

ต้นคริสต์มาส หรือต้นสน ที่นำมาใช้ประดับตกแต่งนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7-8 ก็เชื่อกันว่าซึ่งใช้กิ่งไม้ไม่ผลัดใบมาประดับตกแต่ง เพื่อให้อาณาบริเวณเป็นสีเขียว รวมถึงการบูชาต้นไม้เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเพณีและพิธีกรรมเพเกิน แต่ถูกอธิบายใหม่โดยหลายตำนาน เช่น เรื่องของนักบุญโบนิฟาส (ค.ศ.634-709) ที่หยิบขวานตัดต้นโอ๊คซึ่งอุทิศแด่เทพเจ้าธอร์ (Thor) แล้วชี้ไปยังต้นสนที่อยู่ใกล้ๆ กันแล้วบอกว่าลักษณะสามเหลี่ยมชี้ขึ้นฟ้าคล้านกับสัญลักษณ์ของตรีเอกภาพก็เป็นการอธิบายความหมายใหม่ครอบทับความหมายเดิม

การใช้ต้นสนเพื่อตกแต่งในความหมายของคริสต์มาสที่ชัดเจนคงเป็นธรรมเนียมของชาวเยอรมันย้อนไปถึงในศตวรรตที่ 15 และแพร่หลายสู่อังกฤษในยุคพระราชินีวิกตอเรียนำธรรมเนียมนี้มาใช้ในปี ค.ศ. 1840 โดยนำมาจากเมืองโคเบิร์ก และในปี ค.ศ. 1848 นิตยสาร The illustrated London news ได้ลงรูปราชวงศ์ประทับล้อมรอบต้นคริสต์มาสในพระราชวังวินเซอร์ ทำให้ต้นคริสต์มาสกลายเป็นส่วนสำคัญในเทศกาลของอังกฤษ และแพร่ขยายไปยังอเมริกาด้วย

______________________________

ต้นคริสต์มาสยังมีการประดับตกตกแต่งสิ่งต่างๆ ในช่วงแรกเป็นสิ่งที่ทำเองด้วยมือ สิ่งสำคัญยิ่ง คือ เทียนขี้ผึ้งหรือเทียนวุ้น ซึ่งถูกจุดตอนมีคนอยู่ โดยมี มาร์ติน ลูเธอร์ ศาสตราจารย์ทางศาสนศาสตร์เป็นผู้สนับสนุนให้มีการจุดเทียนประดับบนต้นสนนั้นๆ ด้วย ท่านริเริ่มการประดับแบบนี้โดยเป็นการเตือนให้เด็กๆ ระลึกถึงสวรรค์ที่มีดวงดาวจุดประกาย หรือดวงดาวซึ่งพระเยซูได้จากมาสู่โลก ต้นคริสต์มาสจึงเป็นการบรรจบกันของความเชื่อต้นไม้สีเขียวพื้นเมืองและดาวนำทางของความเชื่อคริสต์

      ที่กล่าวมาจะเห็นว่าเมื่ออิทธิพลของวัฒนธรรมศาสนาเป็นคริสต์แพร่เข้าไปสู่ชาวพื้นเมืองแต่พวกเขาไม่ได้ละทิ้งงานฝีมือซึ่งเคยใช้ทำของถวายแด่เทพเจ้าองค์เก่า วัฒนธรรมคริสต์จึงเปลี่ยนงานฝีมือนั้นเป็นงานที่อุทิศแด่คริสต์ศาสนาแทน เช่น ชาวไวกิ้งหรือชาวยุโรปเหนือในสแกนดิเนเวีย ก็จะอยูในบ้านแล้วนำฟางข้าวมาสานเป็นดาว มงกุฎนางฟ้า ชาวพื้นเมืองเยอรมันและอิตาลีก็ทำสามเหลี่ยมโดยใช้ไม้ขึ้นโครงซ้อนชั้น 5-6 ชั้น สิ่งเหล่านี้ยังคงสร้างด้วยเทคนิคและงานช่างที่คงมาจากภูมิปัญญาแต่งคำอธิบายของมันคือ นางฟ้าที่มาอวยพรในโอกาสคริสต์สมภพ หรือ ดาวประดับอันหมายถึงดาวตัวแทนขององค์พระคริสต์นั่นเอง

         เมื่อมีเทคโนโลยีการพิมพ์ ธรรมเนียมการตกแต่งที่ได้รับการเผยแพร่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะการประดับตกแต่งแบบวิกตอเรียซึ่งกลายเป็นแบบอย่างคริสต์มาสแบบดั้งเดิม ทำให้ธรรเนียมต่างๆ เริ่มเข้าสู่ความเป็นสากลยิ่งขึ้นเพราะเมื่ออเมริกาอิทธิพลของเทศกาลและประเพณีจากอังกฤษ ยิ่งทำให้อเมริกามีรากฐานทางวัฒนธรรมซึ่งผลิตผ่านสื่อออกไปสู่โลก และกำหนดมาตรฐานขึ้นมา

            ปัจจุบันการประดับตกแต่งอันมีรากฐานจากการนำเอาสิ่งที่มีในสภาพแวดล้อมตามฤดูกาล และการใช้มือทำงานฝีมือเพื่ออุทิศแก่เทศกาลเปลี่ยนไป จากแต่ก่อนที่ช่วงคริสต์มาสเป็นช่วงที่ครอบครัวคริสตชนจะได้ใช้ความสามารถทางศิลปะ แต่เพื่อความเร่งด่วนและความสะดวกสบาย ประกอบกับคริสต์มาสเป็นงานที่เกิดขึ้นทุกพื้นที่และมีความเป็นสากล จึงมีสินค้าประดับตกแต่งมากมายที่เหมือนๆ กันและต่างๆไปตามรสนิยมของครอบครัว ต้นคริสต์มาสมีหลากหลายพันธุ์ และขนาดให้เลือก 

            โดยสรุป การประดับตกแต่งในเทศกาลคริสต์มาสมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองในยุโรป เช่น การใช้ใบไม้สีเขียว สีแดง และอื่นๆ เมื่อวัฒนธรรมคริสต์แพร่เข้ามาจึงมีการอธิบายความหมายใหม่ บ้างก็ว่าการใช้ต้นสนนั้นเกิดจากต้นสนมีรูปทรงสามเหลี่ยมเหมือนตรีเอกภาพชี้ฟ้า บ้างก็ใช้การประดับตกแต่งต้นสนนั้นด้วยเทียน และดาว เพื่ออธิบายว่าเป็นดังแสงดาวนำทางของพระเยซู อย่างไรก็ตามจากการประดับตกแต่งที่ใช้งานฝีมือที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นเริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นมาตรฐาน โดยสื่อสารมวลชนที่ตีพิมพ์การเฉลิมฉลองของครอบครัวราชวงศ์ ความนิยมจึงเป็นการตามกันกลายเป็นมาตรฐานเดียวกัน และการใช้คำสอนและพระคัมภีร์เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเปลี่ยนความหมายในการแพร่ขยายความคิดและอุดมการณ์เข้าไปครอบพื้นที่วัฒนธรรมเดิม จึงเป็นเหมือนเครื่องมือที่เกิดขึ้นเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึง เช่น เพลงสวดหรือเพลงเทศกาล เพื่อกลืนกลายผู้คน และลดทอนคุณค่าของพิธีกรรมท้องถิ่น 

ดังเห็นได้จากการประดับตกแต่งเนื่องในวันคริสต์มาสที่เป็นการปรับใช้วัฒนธรรมพื้นเมืองที่เคยอุทิศให้แก่เทพเจ้ามาอุทิศให้คริสต์ศาสนาแทน

 

ปล. ท้ายสุด หาที่แทรกไม่ได้ว่า เสียง HO Ho Ho ของซานต้าอาจเป็น Ho ho Odin พ่อของพรี่ธอร์สุด้อก็ได้